คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5604/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า อ. ไม่ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยถูกหลอกให้ลงชื่อค้ำประกันการทำงานของ อ. สัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่ไม่เป็นความจริงโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ศาลแรงงานกำหนดประเด็นตามที่จำเลยให้การดังกล่าวแต่เพียงว่า อ. เป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่เท่านั้น ประกอบกับโจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านการกำหนดประเด็นดังกล่าว กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลแรงงานพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก่อนจึงชอบแล้ว
ตามสัญญาเอกสารฉบับพิพาท โจทก์มิได้กำหนดสถานที่ทำงานวันเวลาทำงานวันหยุดประจำสัปดาห์ และการลงโทษ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการจ้างแรงงาน ทั้งโจทก์ไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และโจทก์ไม่มีชื่อ อ. ในทะเบียนลูกจ้าง ดังนี้การที่ อ. รับสินค้าของโจทก์ไปวางขายที่บ้านของ อ. และโจทก์ไม่มีเงินเดือนให้ อ. แม้ตามสัญญาโจทก์จะกำหนดให้ อ. ต้องกระทำตามระเบียบวิธีของโจทก์ แต่โจทก์ก็มิได้ควบคุมการทำงานของ อ. ระเบียบวิธีการดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นเพียงข้อกำหนดเพื่อป้องกันความเสียหายมิให้เกิดแก่โจทก์เท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ อ. ดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นการบังคับบัญชาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สัญญาฉบับพิพาทจึงไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2537 โจทก์จ้างนายองอาจ ภูมิเหล่าแจ้งเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขายประจำร้านโจทก์สาขายโสธร จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายองอาจ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ขณะนายองอาจปฏิบัติหน้าที่ได้เบิกสินค้า 5 รายการ เป็นเงิน 75,150 บาท อ้างว่านำไปจำหน่ายแล้วเบียดบังเป็นประโยชน์ส่วนตัว รับเงินปิดบัญชีลูกค้าเช่าซื้อ 2 ราย เป็นเงิน20,146 บาท แล้วไม่นำส่งโจทก์ เบิกสินค้า 4 รายการ นำไปขายเงินสด แต่รายงานว่าเป็นการจำหน่ายโดยให้ลูกค้าเช่าซื้อในราคา 81,130 บาท และนำเงินส่งโจทก์เพียง 31,050บาท เบียดบังเงินส่วนที่เหลือ 50,080 บาท เป็นประโยชน์ส่วนตัว และเก็บเงินค่าเช่าซื้อจากลูกค้า 1 ราย เป็นเงิน 840 บาท แล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 146,216 บาทโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดตามหนังสือทวงถามถึงวันฟ้องเป็นเงิน 14,622 บาท รวมเป็นเงิน 160,838 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน160,838 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 146,216 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายองอาจไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์ นายองอาจเป็นผู้ติดต่อลูกค้าให้ร้านโจทก์โดยได้รับค่านายหน้า นายองอาจถูกหลอกว่าได้เป็นพนักงานขายของโจทก์ความจริงนายองอาจไม่ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยถูกหลอกให้ลงลายมือชื่อค้ำประกันการทำงานของนายองอาจ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยให้การว่านายองอาจ ภูมิเหล่าแจ้ง ไม่ใช่ลูกจ้างโจทก์และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเพียงผู้เดียวที่จะวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า จำเลยให้การว่า นายองอาจไม่ได้รับบรรจุเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยถูกหลอกให้ลงชื่อค้ำประกันการทำงานของนายองอาจ สัญญาจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นเอกสารที่ไม่เป็นความจริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นตามที่จำเลยให้การดังกล่าวแต่เพียงว่า นายองอาจเป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่เท่านั้น ประกอบกับโจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านการกำหนดประเด็นดังกล่าว กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยจึงชอบแล้ว

โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า นายองอาจเป็นลูกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าสัญญาเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ระบุให้นายองอาจปฏิบัติงานอยู่ในอาณาเขตการขายของสาขายโสธรและระบุว่านายองอาจต้องเชื่อฟัง กระทำตามระเบียบ วิธีการ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในสัญญา สัญญาเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า โจทก์มิได้กำหนดสถานที่ทำงานวันเวลาทำงานวันหยุดประจำสัปดาห์และการลงโทษซึ่งเป็นสาระสำคัญของการจ้างแรงงาน ทั้งโจทก์ไม่นำสืบว่า โจทก์มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและมีชื่อนายองอาจในทะเบียนลูกจ้างโจทก์ แต่กลับได้ความว่านายองอาจรับสินค้าของโจทก์ไปวางขายที่บ้านนายองอาจและโจทก์ไม่มีเงินเดือนให้นายองอาจ เห็นว่า แม้สัญญาเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 กำหนดให้นายองอาจต้องกระทำตามระเบียบวิธีของโจทก์ก็ตาม แต่โจทก์มิได้ควบคุมการทำงานของนายองอาจ ระเบียบวิธีการดังกล่าวของโจทก์เป็นเพียงข้อกำหนดเพื่อป้องกันความเสียหายมิให้เกิดแก่โจทก์เท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายองอาจดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการบังคับบัญชาระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

พิพากษายืน

Share