คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6932/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1ในที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนายเลื่อน จุลสิกขี เจ้ามรดก และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าว 1 แปลง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6แล้วให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของคนละส่วนเท่ากัน และให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงมาในคำฟ้องเดียวกัน เป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้แบ่งปันที่ดินมรดกอีก 7 แปลง ให้แก่ทายาทอีก 3 คนคือโจทก์ที่ 2ถึงที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้รับที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ในคดีนี้ซึ่งมีส่วนของโจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นมรดกร่วมอยู่ด้วย เป็นการวินิจฉัยโดยฟังจากคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8คำเบิกความของพยานที่คู่ความนำสืบในชั้นพิจารณาประกอบด้วยพยานเอกสารที่คู่ความอ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 8 อ้างเป็นพยานนั่งเอง จึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกข้อเท็จจริงที่มีในสำนวนไม่ และเมื่อคดีนี้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาคดีจึงไม่มีการชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาท และประเด็นข้อพิพาทก็คงมีอยู่ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท
แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวโดยมิได้ขออนุญาตศาล แต่จำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก อันเป็นการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายเลื่อน จุลสิกขี เจ้ามรดก ส่วนโจทก์ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 และนายเลื่อน ในช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนายอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินในเขตอำเภอปะนาเระแทนจำเลยที่ 5 สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2528 นายเลื่อนถึงแก่ความตาย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2530 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเลื่อนผู้ตาย หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 1 ได้ฉ้อฉลยักย้ายที่ดินทรัพย์มรดกคือที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 320 เลขที่ 407 เลขที่ 671 เลขที่ 677เลขที่ 2254 และเลขที่ 2571 เป็นของตนเองทั้งหมดมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดกามรดกได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะนายอำเภอปะนาเระและเป็นผู้มีหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินในขณะนั้น ขอจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรับจดทะเบียนโอนให้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นโมฆะ และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการถูกกำจัดมิให้รับทรัพย์มรดกและหลังจากจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกเป็นของตนเองทั้งหมดแล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จึงได้นำที่ดินทรัพย์มรดก น.ส.3 ก. เลขที่ 320 ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีขณะนั้นและมีหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้จดทะเบียนจำนองให้ การจดทะเบียนจำนองดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินไม่มีผลบังคับ นอกจากนั้น จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ยังได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 407 เลขที่ 671 เลขที่ 677 และเลขที่ 2571 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ และจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 320 และเลขที่ 2254 เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ และที่ดินทั้งหมดมีราคาประมาณ 330,000 บาท ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ในที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 320 เลขที่ 407 เลขที่ 671 เลขที่ 677 เลขที่ 2254 และเลขที่ 2571 ที่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเสียทั้งหมด และให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 320 ซึ่งทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 เสีย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของคนละส่วนเท่ากัน ถ้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ปฏิบัติขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยที่ 6 ส่งมอบ น.ส.3 ก. เลขที่ 320 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ถ้าคืนไม่ได้ให้ศาลสั่งจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกใบแทนโดยให้ยกเลิก น.ส.3 ก. เลขที่ 320 ฉบับเดิมเสีย และให้เพิกถอนการยึดและการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 320 เลขที่ 407 เลขที่ 671 เลขที่ 677 เลขที่ 2254 และเลขที่ 2571 ตำบลบ้านนอก อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เสียทั้งหมด ถ้าเพิกถอนและโอนที่ดินใส่ชื่อโจทก์ไม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 330,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จกับห้ามมิให้จำเลยทั้งแปดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกเป็นของตนเองในฐานะทายาทคนหนึ่งและได้เอาที่ดินที่ได้รับโอนมาไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่จำเลยที่ 6 โดยจำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะนายอำเภอซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ดำเนินการรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวให้นั้นถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายไม่เป็นละเมิด จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและจำเลยเหล่านั้นก็ไม่ใช่ข้าราชการหรือหน่วยงานในสังกัดของจำเลยที่ 5 ไม่ใช่ผู้แทนของจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 รับจำนองที่ดินโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่ประการใด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 และที่ 8 ให้การที่ดินที่จำเลยที่ 7 และที่ 8 นำยึดเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้จดทะเบียนรับโอนมาโดยชอบและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา ส่วนทรัพย์มรดกที่เป็นส่วนของโจทก์ทั้งสี่นั้นยังไม่มีการแบ่ง โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านและไม่ใช่เป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 และเป็นน้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 ถูกยึดทรัพย์เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสัจจา วิเชียรรัตน์ บุตรโจทก์ที่ 1ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาต

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนายเลื่อนจุลสิกขี เจ้ามรดก และเพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าว 1 แปลง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 6 แล้วให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสี่เป็นเจ้าของคนละส่วนเท่ากัน และให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงมาในคำฟ้องเดียวกันเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน โจทก์ทั้งสี่ตีราคาที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง เป็นเงิน 330,000 บาท คิดคำนวณแล้วเท่ากับโจทก์ตั้งทุนทรัพย์คนละ 82,500 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าเจ้ามรดกมีที่ดินมรดก 13 แปลง ซึ่งรวมที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงด้วย กับปืน 2 กระบอก จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินพิพาท6 แปลง ส่วนที่ดินอีก 7 แปลงได้แบ่งปันให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 การที่โจทก์ทั้งสี่มาฟ้องคดีนี้ก็เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ที่ 1 และเป็นพี่น้องของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4มิให้ถูกจำเลยที่ 7 และที่ 8 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้เท่านั้น โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองและเพิกถอนการยึดที่ดินตามฟ้อง การที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีเป็นการป้องกันสิทธิและส่วนได้เสียของโจทก์ทั้งสี่ มิได้เป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองและเพิกถอนการยึดที่ดินตามฟ้อง เช่นนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสี่มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาในประการต่อมาว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นว่ามีการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ไม่มีฝ่ายใดกล่าวอ้างไว้ในคำคู่ความ ในคำฟ้องคำให้การ และไม่มีคู่ความฝ่ายใดนำสืบว่ามีการตกลงแบ่งปันมรดกระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย นอกจากนี้ศาลชั้นต้นก็มิได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกข้อเท็จจริงที่มีในสำนวนและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่าที่ดินพิพาททั้ง6 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของนายเลื่อนผู้ตายซึ่งตกได้แก่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายฉ้อฉลยักย้ายที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงเป็นของตนเองทั้งหมดมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ต่างให้การต่อสู้ในทำนองเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง เป็นทรัพย์มรดกส่วนที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1โดยเฉพาะจำเลยที่ 7 และที่ 8 นั้น ให้การยืนยันว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 7 และที่ 8นำยึดนั้นเป็นทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 1 ส่วนทรัพย์มรดกที่เป็นส่วนของโจทก์ทั้งสี่นั้น ยังไม่มีการแบ่ง ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทในคดีข้อหนึ่งย่อมมีว่า ที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงเป็นทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 1 หรือเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งซึ่งโจทก์ทั้งสี่มีส่วนเป็นเจ้าของด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้แบ่งปันที่ดินมรดกอีก 7 แปลงให้แก่ทายาทอีก 3 คนคือโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้รับที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงในคดีนี้ ซึ่งมีส่วนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมรดกร่วมอยู่ด้วย ก็เป็นการวินิจฉัยโดยฟังจากคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 คำเบิกความของพยานที่คู่ความนำสืบในชั้นพิจารณาประกอบด้วยพยานเอกสารที่คู่ความอ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 263/2530, 67/2534 และ 435/2535 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 8อ้างเป็นพยานนั่นเอง หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกข้อเท็จจริงที่มีในสำนวนไม่

ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่อ้างว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทเพราะศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้เช่นนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา คดีจึงไม่มีการชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาท แต่ประเด็นข้อพิพาทก็คงมีอยู่ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทเช่นกัน

ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงเป็นของจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการยักย้ายและปิดบังทรัพย์มรดกต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทโดยโอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งและโอนที่ดินอื่นอีก 7 แปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกอันจะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกแต่อย่างใด

ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาในประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลงเป็นของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ขออนุญาตศาล เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการโอนที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกอยู่แล้ว จึงมิใช่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก อันเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

พิพากษายืน

Share