แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์ที่ด้านใดของเอกสาร เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นแบบพิมพ์แผ่นเดียวกันมี 2 หน้า ด้านหน้าเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน ด้านหลังเป็นแบบพิมพ์หนังสือค้ำประกัน การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง200 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 93 บาท ส่วนหนังสือสัญญาค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันครบถ้วนแล้ว จึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้
เมื่อตามหนังสือสัญญาค้ำประกันมิได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 185,000 บาทจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยภายในวันที่ 31 สิงหาคม2536 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามสัญญา และค้างชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันกู้ยืมเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 26,593.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 211,593.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 185,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 26,593.75 บาท (ตามที่โจทก์ขอ)
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3หรือไม่ โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 อยู่ด้านหลังหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ปิดอากรแสตมป์จำนวน 200 บาท ไว้ทางด้านหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ถือว่าอากรแสตมป์ที่ปิดเกินไปเป็นการปิดอากรแสตมป์ตามสัญญาค้ำประกันและถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีกหรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้…” บทบัญญัติในประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปิดอากรแสตมป์ที่ด้านใดของเอกสาร ซึ่งหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 เป็นแบบพิมพ์แผ่นเดียวกันมี 2 หน้า ด้านหน้าเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน ด้านหลังเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญาค้ำประกัน ปรากฏว่ามีการปิดอากรแสตมป์ดวงละ 20 บาท จำนวน 10 ดวง ที่ด้านหน้าซึ่งเป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินจำนวนเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเป็นเงิน 185,000 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะตราสาร 5 กู้ยืมเงินทุกจำนวน 2,000 บาท หรือเศษของ2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมเป็นค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ฉะนั้น ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ต้องปิดอากรแสตมป์ 93 บาท ส่วนบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ลักษณะตราสาร 17 ค้ำประกัน สำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท การที่โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 200 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 93 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ครบถ้วนแล้ว จึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเพียงผู้เดียวและเป็นการค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์จำนวน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว เมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ซึ่งตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 มิได้กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 26,593.75 บาท (ตามที่โจทก์ขอ)ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน