คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1720/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแสดงตนว่าเป็นแพทย์ และพ่อตาจำเลยเป็นแพทย์ใหญ่แม้ความจริงจำเลยและพ่อตาไม่ได้เป็นแพทย์ แต่ผู้เสียหายหลงเชื่อให้เงินจำเลยไปเพื่อวิ่งเต้นช่วยเหลือบุตรผู้เสียหาย จำเลยย่อมมีผิดตาม มาตรา 123
ปลอมสำเนาหนังสือราชการซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นสำเนาหนังสือที่เจ้าหน้าที่เรียบเรียงและรับรองว่าเป็นสำเนาอันแท้จริงแม้ความจริงจะไม่มีแบบหนังสือที่แท้จริงนั้นก่อนก็ตามก็ยังคงเป็นผิดตาม มาตรา 224
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแสดงตนว่าเป็นคนสนิทชิดชอบกับเจ้าพนักงาน ผู้เสียหายหลงเชื่อให้เงินจำเลยไปเหตุเกิดที่ตำบล ก. แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพูดแสดงตนเป็นคนสนิทชิดชอบกับเจ้าพนักงานที่ตำบล ข. แต่ได้รับเงินจากผู้เสียหายที่ตำบล ก. เช่นนี้ฟ้องของโจทก์หาผิดตำบลที่เกิดเหตุไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้แสดงตนว่าเป็นบุตรเขยนายแพทย์โรงพยาบาลทหารเรือต่อนางปาน แซ่โจ และนางอี แซ่อึ้ง และรับทรัพย์ไปจากบุคคลทั้งสองโดยจำเลยอ้างว่าจะให้แพทย์ทำรายงานตรวจโรคว่าบุตรของบุคคลทั้งสองว่าเป็นโรคติดต่อ แล้วปลดออกจากการเป็นทหาร ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือปลอมโดยจำเลยลงลายมือชื่อ ร.ท.นวม เกษรุ่งปลอมรับรองสำเนาหนังสือราชการสำคัญของกรมนาวิกโยธินแล้วจำเลยเอาหนังสือปลอมนั้นไปให้แก่นางปาน แซ่โจ นางปาน แซ่โจ จึงได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยไป ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 123, 222, 224, 226, 227, 304, 71

จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลมณฑลทหารบกที่ 2 เห็นว่าความผิดฐานฉ้อโกงขาดอายุความแล้วพิพากษาว่าจำเลยผิดตามมาตรา 123 จำคุก 6 เดือน และตามมาตรา 227, 224 จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลทหารกลางพิพากษาแก้เฉพาะกระทงที่สองว่าจำเลยผิดกฎหมายอาญา มาตรา 224 จำคุก 1 ปี

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า (1) การที่จำเลยพูดว่าจำเลยเป็นหมอแพทย์ พ่อตาจำเลยเป็นหมอใหญ่ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นดังนั้นก็ตามคำกล่าวอ้างนั้นทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลยไปการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 123

(2) ที่จำเลยว่าฟ้องโจทก์ข้อ 1.ก. ผิดตำบลที่เกิดเหตุนั้นศาลฎีกาเห็นว่าหาผิดไม่ เพราะจำเลยพูดแสดงตนว่าเป็นคนสนิทชิดชอบกับเจ้าพนักงานให้นางอี้ให้เงินจำเลยที่ตำบลหนองครกแล้วรุ่งขึ้นนางอี้ก็มอบเงินให้คนเอาไปให้จำเลยรับที่ตำบลพนัสนิคม การกระทำผิดเกี่ยวเนื่องติดต่อกัน ฟังได้ว่าเหตุเกิดที่ตำบลพนัสนิคมดังฟ้องโจทก์

(3) ที่จำเลยโต้แย้งว่าการปลอมหนังสือราชการต้องปรากฏว่ามีที่แท้จริงเสียก่อนนั้นเห็นว่าสำเนาหนังสือราชการปลอมที่จำเลยทำขึ้นนั้นทำให้เห็นว่าเป็นสำเนาหนังสือที่เจ้าหน้าที่เรียบเรียงและรับรองว่าเป็นสำเนาอันแท้จริงตรงตามกฎหมายอาญา มาตรา 6(19) ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share