แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 กับที่ 3กระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายยืนยันการกระทำของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ว่าได้กระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงประการเดียว แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 กับที่ 3 กลับให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องซึ่งศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 แถลงไม่ติดใจสืบพยานข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดก็มีเพียงเท่าที่โจทก์กล่าวในฟ้อง หาได้มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม แต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเช่นว่านี้มาใช้บังคับเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เพียงว่า จำเลยที่ 1กับพวกหลายคนร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตในเวลากลางคืนแล้วปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก,83 เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาว่าศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไปศาลฎีกาย่อมปรับบทให้ถูกต้องได้โดยไม่แก้ไขเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันลักถังแก๊สของวัดคลองพิไกร ผู้เสียหาย ขณะอยู่ในความดูแลรักษาของพระภิกษุสมนึกพันแตง ไปโดยทุจริต โดยจำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ในวันเดียวกันภายหลังจากการกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้รับของโจร ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคแรก, 83 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยที 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจร ในชั้นพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ แม้โจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3ในความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้ เพราะข้อเท็จจริงที่แตกต่างเกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรเป็นเพียงรายละเอียดและไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในความผิดฐานรับของโจร ทำให้จำเลยที่ 2 กับที่ 3 หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยบรรยายว่าจำเลยที่ 1 กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ภายหลังจากที่ทรัพย์ของผู้เสียหายถูกลักไปแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้รับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย รับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการบรรยายยืนยันการกระทำของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ว่าได้กระทำความผิดฐานรับของโจรเพียงประการเดียว แต่เมื่อในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ซึ่งศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิด ก็มีเพียงเท่าที่โจทก์กล่าวในฟ้อง หาได้มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาที่จะแสดงให้ศาลเห็นว่าแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามแต่อย่างใดไม่ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเช่นว่านี้มาใช้บังคับเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ดังที่โจทก์ฎีกาได้ และตามบทบัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้บัญญัติห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 กับที่ 3ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ จึงเป็นการลงโทษในการกระทำผิดซึ่งโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 มานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและพาทรัพย์นั้นไป ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกหลายคนร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตในเวลากลางคืน แล้วปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก, 83 เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกาว่า ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องครบถ้วนศาลฎีกาก็ชอบที่จะปรับบทให้ถูกต้องได้ โดยไม่แก้ไขเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6