คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5147/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยโดยให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56(4) ได้ ก็ต่อเมื่อศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ซึ่งเป็นดุลพินิจในการลงโทษของศาล ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 43 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 102 และริบของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลย ไม่ได้แก้บทมาตราด้วย ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาขอให้ส่งตัวจำเลยไปรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายนั้น เห็นว่า ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลย โดยให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56(4) ได้ก็ต่อเมื่อศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นดุลพินิจในการลงโทษของศาล ถือเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยนั้นมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share