แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในบันทึกถ้อยคำอันเป็นข้อตกลงภารจำยอมบางส่วนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งกำหนดให้ทางเดินในที่ดินของจำเลยทั้งสองและที่ดินที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวม กับที่ดินของโจทก์และที่ดินของ อ. ต่างตกเป็นภารจำยอมแก่กันและกันได้มีข้อความระบุว่า “โดยตกเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วน” แต่บันทึกทำกันที่สำนักงานที่ดินมีข้อความชัดเจนว่า “ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจดทะเบียนภารจำยอมไว้ระบุให้มีและใช้ถนนทางเท้าและทางรถยนต์ต่างฝ่ายต่างยังให้สิทธิซึ่งกันและกัน ในการปักเสาไฟฟ้าวางท่อประปา และเกี่ยวกับกิจการสาธารณูปโภคอื่น” แม้ตามบันทึกถ้อยคำจะระบุว่าเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วนก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นภารจำยอมเฉพาะทางเดินเท้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเจตนารมณ์ของการใช้ทางภารจำยอมที่ปรากฏอยู่ในบันทึกทำกันที่สำนักงานที่ดินว่าเป็นการมีและใช้ถนน ทางเท้า และทางรถยนต์ รวมทั้งการปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา และกิจการสาธารณูปโภคอื่นด้วย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ทำให้มีน้ำหนักลดลง เพราะเป็นเพียงเอกสารประกอบที่อธิบายขยายคำว่า ภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าไม่ได้หมายความเฉพาะทางเดินเท้าเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางภารจำยอมเป็นทางรถ ปักเสาไฟฟ้า ฯลฯโดยไม่จำกัดการใช้เฉพาะทางเดินเท้าอย่างเดียวได้
เมื่อโจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอม จำเลยทั้งสองนำเสาคอนกรีตไปปักไว้และทำคานบนเสาเพื่อขัดขวางไม่ให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอม จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3314 และ 18616 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18617 และ 18620 และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18618 และ 18619 ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18616 ของโจทก์ที่ดินของจำเลยทั้งสอง และที่ดินของจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวต่างตกเป็นภารจำยอมแก่กันและกันโดยได้มีการจดทะเบียนภารจำยอมเรื่องทางเดินกว้าง 1.44 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ และตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 3314 ของโจทก์ด้วย รวมทั้งมีข้อตกลงให้ใช้เป็นทางรถและใช้ในกิจการสาธารณูปโภค เมื่อประมาณเดือนมกราคม2538 จำเลยทั้งสองร่วมกันปักเสาคอนกรีต 4 ต้น ในทางภารจำยอมและทำคานบนเสาห้ามรถยนต์ของโจทก์เข้าออก ติดป้ายห้ามรถบรรทุกเข้าออก ห้ามปักเสา ไฟฟ้า โทรศัพท์วางสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ท่อประปา และท่อระบายน้ำ และปักเสา ทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18616 ด้านทิศใต้ซึ่งติดกับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18617 ของจำเลยทั้งสองลึก 20 เซนติเมตร ยาวตลอดเนื้อที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถก่อสร้างรั้วรอบที่ดินของโจทก์ ไม่สามารถนำรถเข้าออกผ่านทางภารจำยอม และไม่สามารถนำวัสดุก่อสร้างเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อทำการก่อสร้าง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินของโจทก์ รื้อถอนเสาคอนกรีต 4 ต้นและสิ่งกีดขวางออกจากทางภารจำยอม ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารขัดขวางการใช้ทางภารจำยอม และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินวันละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งกีดขวางออกจากทางภารจำยอมและรื้อถอนรั้วออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า การนำรถยนต์มาใช้ในทางภารจำยอมและทำสิ่งสาธารณูปโภคในทางภารจำยอมเป็นการเพิ่มภาระแก่ทางภารจำยอมที่ได้จดทะเบียนไว้ ทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย จำเลยทั้งสองทำไม้กั้นเหนือทางภารจำยอมติดป้ายแสดงสิทธิของจำเลยทั้งสองและทำรั้วกั้นแนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองเพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ได้รุกล้ำที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18616 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนยกเลิกภารจำยอมในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18617,18618, 18619 และ 18620 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ที่ได้จดทะเบียนให้บางส่วนของที่ดินเป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3314 และ18616 หากโจทก์ไม่กระทำตามหรือหากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 3,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง และใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์และบริวารจะหยุดใช้ทางภารจำยอม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยทั้งสองว่า การใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดและไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ โฉนดที่ดินเลขที่ 18616 ตำบลบางบำหรุ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยให้ถือแนวเขตตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.29 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนเสาคอนกรีต 4 ต้น และสิ่งกีดขวางออกจากทางภารจำยอม ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมเป็นทางรถยนต์ ปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา ท่อระบายน้ำ และกิจการสาธารณูปโภคอื่น ๆ หรือไม่นั้น เห็นว่า ในบันทึกถ้อยคำอันเป็นข้อตกลงภารจำยอมบางส่วนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526 ซึ่งกำหนดให้ทางเดินในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18617และ 18620 ของจำเลยทั้งสองและที่ดินที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 18618 และ 18619 กับที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 18616 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1003 ของนายอาจินต์ คุณวโรตม์ ต่างตกเป็นภารจำยอมแก่กันและกัน และตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3314 ของโจทก์ได้มีข้อความระบุว่า “โดยตกเป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วน” กว้างประมาณ 1.44 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ของแต่ละแปลงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 และ ล.1 กับบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 3 จ.5 แผ่นที่ 2 จ.12 แผ่นที่ 7, 9, 11 และ 13 และ จ.13 ถึง จ.23 แต่บันทึกทำกันที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อย ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2526 มีข้อความชัดเจนว่า “ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 18618, 18619, 18620,1003, 3314, 18616 และ 18617 ซึ่งจดทะเบียนภารจำยอมไว้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน2526 ระบุไว้ว่าให้มีและใช้ถนนทางเท้าและทางรถยนต์ต่างฝ่ายต่างยังให้สิทธิซึ่งกันและกันในการปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา และเกี่ยวกับกิจการสาธารณูปโภคอื่น”ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 เหตุนี้แม้ตามบันทึกถ้อยคำจะระบุว่า เป็นภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วน ก็หาได้หมายความว่าเป็นภารจำยอมเฉพาะทางเดินเท้าแต่เพียงอย่างเดียวไม่ เพราะเจตนารมณ์ของการใช้ทางภารจำยอมปรากฏอยู่ในเอกสารหมาย จ.8ดังกล่าวข้างต้นว่าเป็นการมีและใช้ถนน ทางเท้า และทางรถยนต์ รวมทั้งการปักเสาไฟฟ้าวางท่อประปา และกิจการสาธารณูปโภคอื่นด้วย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ก็ไม่ทำให้เอกสารหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักลดลง เพราะขัดต่อหลักเหตุผลดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้ง เพราะเป็นเพียงเอกสารประกอบที่อธิบายขยายความคำว่า “ภารจำยอมเรื่องทางเดินบางส่วน” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามิได้หมายความเฉพาะทางเดินเท้าเท่านั้น ซึ่งตรงกับสภาพการณ์ของบ้านเมืองในปี 2526 อันเป็นปีที่มีการจดทะเบียนภารจำยอม ได้มีการใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะอย่างแพร่หลาย รวมทั้งมีการปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา และกิจการสาธารณูปโภคอื่นเข้าถึงทุกชุมชนและหมู่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครซึ่งมีการกระจายความเจริญอย่างรวดเร็วในทุกเขตจึงมิใช่การนำสืบถึงบุคคลสิทธิเพื่อลบล้างทรัพยสิทธิ ดังนั้น แม้ไม่มีเอกสารหมาย จ.8 มาประกอบเอกสารการจดทะเบียนภารจำยอม ศาลก็ต้องตีความคำว่า “ทางเดิน” ตามเจตนารมณ์ของคู่กรณี ซึ่งมิได้จำกัดเคร่งครัดตามตัวอักษรเท่านั้น โดยต้องสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เหตุนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมเป็นทางรถ ปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา ท่อระบายน้ำ และกิจการสาธารณูปโภคอื่น ๆ โดยมิได้จำกัดการใช้เฉพาะทางเดินเท้าอย่างเดียวนั้นชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประเด็นสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ดังได้วินิจฉัยไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมเป็นทางรถยนต์ ปักเสาไฟฟ้า วางท่อประปา ท่อระบายน้ำ และกิจการสาธารณูปโภคอื่น ๆ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำเสาคอนกรีตไปปักไว้และทำคานบนเสาเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอม จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน