แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำให้การจะถือว่าเป็นคำคู่ความเช่นเดียวกับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) แต่การพิจารณาว่าคำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(4) และ มาตรา 177 กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าในกรณีที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเอง แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทนจำเลยจะต้องบรรยายไว้ในคำให้การด้วยว่ามอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินคดีแทนและต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจมาพร้อมกับคำให้การด้วย เมื่อจำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือและยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และในคำให้การจำเลยได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดโดยแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งต้องมีผู้กระทำการแทนและตามใบแต่งทนายความของจำเลยระบุว่าผู้แต่งทนายความคือ “บริษัท น. โดย ร. ผู้รับมอบอำนาจจำเลย” ขอแต่งตั้งให้ว. เป็นทนายความและลงลายมือชื่อ ร. ในช่องผู้แต่งทนายความ ถือว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้ ร. ดำเนินคดีแทนจำเลยและต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและยื่นสำเนาเอกสาร จำเลยก็ได้ส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง ร. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความแทนจำเลย ว. ในฐานะทนายความจึงมีอำนาจทำคำให้การและลงชื่อในคำให้การยื่นต่อศาลได้
สัญญารับจ้างขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุไว้ชัดแจ้งว่า “สัญญานี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นสมควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้โดยทำเป็นหนังสือหรือจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน” ดังนั้นสัญญานี้ย่อมเลิกกันเมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 โดยจำเลยไม่ต้องบอกเลิกสัญญาให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีที่จำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นกรณีที่สัญญายังไม่สิ้นสุดแต่จำเลยเห็นสมควรเลิกสัญญาก็มีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แม้จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงโดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ ก็มีผลเพียงไม่ทำให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม2541 การที่โจทก์มีหนังสือทักท้วงการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวและจำเลยมีหนังสือยินยอมให้โจทก์มีสิทธิขนส่งน้ำมันให้จำเลยต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 อันเป็นระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา จึงไม่ใช่เป็นการบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนายืนยันว่าจำเลยจะไม่ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ต่อไปอีกเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว
โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหาย หรือคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร คงฎีกาเพียงแต่ให้ศาลฎีกาพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาที่เคลือบคลุมไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของจำเลยให้แก่ลูกค้าของจำเลยโดยไม่มีกำหนดเวลา ห้ามมิให้โจทก์ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของผู้ว่าจ้างรายอื่นนอกจากของจำเลย และจะไม่บอกเลิกสัญญาแม้ในสัญญาจะกำหนดเวลาและการบอกเลิกสัญญาไว้ก็ตาม จะไม่นำมาบังคับใช้ต่อกัน หลังจากนั้นโจทก์ได้ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้จำเลยตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โดยโจทก์มิได้ผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 90,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของจำเลยโดยทำสัญญาว่าจ้างปีต่อปี เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 พฤษภาคม2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยว่าจ้างโจทก์ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของจำเลยให้แก่ลูกค้าของจำเลย ครั้งสุดท้ายทำสัญญาว่าจ้างตามสัญญารับจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำให้การจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นบริษัทต่างด้าวซึ่งจะต้องมีตัวแทนดำเนินการแทนในประเทศไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ในบัญชี ข. ทะเบียนเลขที่ 25932 เมื่อจำเลยมอบหมายให้นายริชาร์ด เค เอแบรมส์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในประเทศไทย การกระทำแทนจำเลยจึงต้องได้รับการแต่งตั้งจากนายริชาร์ด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่านายริชาร์ดได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการแทนจำเลย นายรังสี พัฒศาสตร์ ที่เบิกความเป็นพยานจำเลยก็ได้ความเพียงว่า เป็นผู้จัดการขนส่งมีหน้าที่ดูแลขนส่งให้จำเลยเท่านั้น เมื่อไม่ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยหรือรับมอบอำนาจช่วงจากนายริชาร์ดแล้ว ต้องถือว่าไม่มีอำนาจใด ๆที่จะกระทำการแทนจำเลยได้ การที่นายรังสีกระทำการแทนจำเลยโดยแต่งตั้งนายวิทยาเป็นทนายความ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายวิทยายื่นคำให้การต่อสู้คดีแทนจำเลยคำให้การดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบต่อสู้ตามคำให้การ แม้ศาลชั้นต้นจะยอมให้จำเลยสืบพยานก็รับฟังเป็นพยานจำเลยไม่ได้ อำนาจต่อสู้คดีของคู่ความมีลักษณะเช่นเดียวกับคำฟ้อง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงนี้ขึ้นเมื่อใดต้องถือว่าขัดต่อกฎหมาย ต้องยกหรือไม่รับคำให้การนั้นเสีย เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า แม้คำให้การจะถือว่าเป็นคำคู่ความเช่นเดียวกับคำฟ้องตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) บัญญัติไว้ แต่อย่างไรเป็นคำฟ้อง อย่างไรเป็นคำให้การ และคำฟ้องกับคำให้การที่เสนอต่อศาลจะต้องมีลักษณะอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมายนั้น กฎหมายบัญญัติแยกต่างหากจากกันโดยคำฟ้องบัญญัติไว้ตามมาตรา 1(3) และมาตรา 172 ส่วนคำให้การบัญญัติไว้ตามมาตรา 1(4) และมาตรา 177 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อตามมาตรา 1(4) บัญญัติว่า “คำให้การ หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้…” และมาตรา 177 บัญญัติว่า “เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” ดังนั้น การพิจารณาว่าคำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว กฎหมายหาได้บัญญัติว่าในกรณีที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีเอง แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทน จำเลยจะต้องบรรยายไว้ในคำให้การด้วยว่าจำเลยมอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินคดีแทน และต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจมาพร้อมกับคำให้การด้วยแต่อย่างใด เมื่อคำให้การจำเลยได้ทำเป็นหนังสือและยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และในคำให้การจำเลยก็ได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดโดยแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคล ซึ่งต้องมีผู้กระทำการแทนและตามใบแต่งทนายความของจำเลยลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ระบุว่า ผู้แต่งทนายความคือ “บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย)จำกัด โดยนายรังสี พัฒศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจจำเลย” ขอแต่งตั้งให้นายวิทยา คงถาวรเป็นทนายความ และลงลายมือชื่อนายรังสี พัฒศาสตร์ ในช่องผู้แต่งทนายความ เช่นนี้จึงเพียงพอที่จะเข้าใจได้แล้วว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้นายรังสีดำเนินคดีแทนจำเลยและต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 และยื่นสำเนาเอกสารลงวันที่ 10 กันยายน 2541 จำเลยก็ได้ส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่3 กรกฎาคม 2541 ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจำเลยโดยนายริชาร์ด เค เอแบรมส์ ผู้มอบอำนาจได้มอบอำนาจให้นายรังสี พัฒศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจโดยข้อ 3 ระบุว่าให้เป็นโจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้ง หรือเป็นจำเลยเข้าต่อสู้คดีในการดำเนินคดีแพ่ง… ได้ด้วย ดังนั้น นายรังสีจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งตั้งนายวิทยาเป็นทนายความแทนจำเลย นายวิทยาในฐานะทนายความจำเลยจึงมีอำนาจทำคำให้การและลงชื่อในคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นได้โดยชอบ ปัญหาว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้นายรังสีดำเนินคดีแทนจำเลยหรือไม่ โจทก์มิได้ยกขึ้นคัดค้านตั้งแต่ศาลชั้นต้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้รับสำเนาคำให้การจำเลยก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์จึงรู้เหตุแห่งการที่จะคัดค้านแล้ว และในชั้นพิจารณาโจทก์ก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในทางนำสืบว่า การมอบอำนาจให้นายรังสีดำเนินคดีแทนจำเลยไม่ชอบอย่างไร การที่นายรังสีแต่งตั้งนายวิทยาเป็นทนายความแทนจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยและนายวิทยาทำคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นในฐานะทนายความจำเลย เป็นคำให้การที่ไม่ชอบเพราะเหตุใด เพื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้นำสืบพยานภายหลังจะได้มีโอกาสชี้แจงและแสดงหลักฐานแห่งการได้รับมอบอำนาจจากจำเลย ทั้งเมื่อนายรังสีผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยโจทก์ก็หาได้ถามค้านนายรังสีในปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ โจทก์เพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้นายรังสีดำเนินคดีแทนจำเลย คำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปมีว่า สัญญารับจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามเอกสารหมาย จ.8 หรือ ล.1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่สิ้นสุดลงเพราะเหตุจำเลยบอกเลิกสัญญาไม่ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 1เมษายน 2540 และตามข้อ 10.3 ของสัญญาระบุไว้ชัดแจ้งว่า “สัญญานี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นสมควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้โดยทำเป็นหนังสือหรือจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน” ดังนั้น สัญญานี้ย่อมเลิกกันทันทีเมื่อถึงวันสิ้นสุดของสัญญาคือวันที่ 31 มีนาคม 2541โดยจำเลยผู้ว่าจ้างหาจำต้องบอกเลิกสัญญาโดยต้องแจ้งให้โจทก์ผู้รับจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ กรณีที่จำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เป็นกรณีที่สัญญายังไม่สิ้นสุดลง แต่จำเลยเห็นสมควรเลิกสัญญาก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงโดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบเพราะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่ถึง 30 วัน ตามที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็มีผลเพียงว่าไม่ทำให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2541 เท่านั้นการที่โจทก์มีหนังสือทักท้วงว่าการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลยไม่ชอบ และจำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.14 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิขนส่งน้ำมันให้จำเลยต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 อันเป็นระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา จึงมิใช่เป็นการบอกเลิกสัญญาตามที่โจทก์เข้าใจแต่เห็นได้ว่าเป็นการแสดงเจตนายืนยันว่าจำเลยจะไม่ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ต่อไปอีกเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในวันดังกล่าวแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2541 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องและนำสืบเข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์จำเลยต้องปฏิบัติตอบแทนกันตั้งแต่ปี 2513 โดยจำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของจำเลยทั่วราชอาณาจักร โจทก์ต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก รถยนต์ที่ใช้บรรทุกน้ำมันต้องนำมาปรับปรุงทำใหม่ติดตั้งเครื่องหมายการค้าน้ำมันของจำเลย มีข้อกำหนดห้ามมิให้โจทก์ขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของผู้ว่าจ้างรายอื่น อีกทั้งรถยนต์ที่ใช้บรรทุกต้องเป็นรถใช้งานได้ประมาณไม่เกิน 10 ปี จึงมิได้กำหนดระยะเวลาว่าจ้างกันไว้ และได้ปฏิบัติการว่าจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอย่างต่างตอบแทนกันกี่ปีก็ได้จนกว่ารถยนต์ที่ใช้บรรทุกหมดอายุการใช้หรือตกลงเลิกขนส่งกันด้วยความสมัครใจ พฤติการณ์จึงปฏิบัติอย่างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยต้องยอมให้โจทก์ทำหน้าที่รับจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อไปอย่างไม่มีกำหนดเวลาว่าจ้างเว้นแต่จะผิดข้อตกลงที่ว่าด้วยสภาพรถยนต์ที่ใช้หมดอายุหรือไม่มีความปลอดภัยในการใช้และฎีกาต่อมาว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์จำเลยแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรมนิติกรรมหนึ่งได้แสดงให้ปรากฏออกมาโดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามสัญญาที่ทำไว้ซึ่งมีกำหนดเวลา 1 ปี แต่ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารซึ่งมีกำหนดเวลา 1 ปี ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาจ้างธรรมดาที่อำพรางปกปิดไว้โดยไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีเจตนาให้ผูกพันกันตลอดไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าจ้างนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า เดิมโจทก์และจำเลยปฏิบัติกันอย่างไรสภาพแห่งข้อหาตามฟ้องที่โจทก์อ้างคือจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเพราะโจทก์มิได้ผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากไม่มีการเลิกสัญญาโจทก์สามารถขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้จำเลยอย่างน้อยอีก 15 ปี โจทก์มีรถยนต์บรรทุกขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 13 คัน แต่ละคันมีรายได้จากการขนส่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคันละ50,000 บาท จึงเสียหายเป็นเงินเดือนละ 650,000 บาท หรือปีละ 7,800,000 บาท และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 90,000,000 บาท ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญารับจ้างขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมระหว่างโจทก์จำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาจ้างธรรมดาหรือเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น จึงเป็นการฎีกาในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาเรื่องค่าเสียหายนั้น ฎีกาของโจทก์บรรยายเพียงว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียง 1 เดือน ในเดือนมีนาคม 2541 เป็นเงิน450,000 บาท เท่านั้น แต่โจทก์มีรายได้สุทธิจากการรับจ้างจำเลยเดือนละ 650,000 บาท หากจำเลยให้โจทก์รับจ้างต่อไป โจทก์สามารถรับจ้างต่อไปได้อีก 15 ปี จะเป็นรายได้ทั้งสิ้น 117,000,000 บาท โจทก์จึงเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าว แต่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพียง 90,000,000 บาท ขอให้ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงการบอกเลิกสัญญาของจำเลยไม่ชอบแล้วกำหนดค่าเสียหายเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามฟ้องด้วยนั้นเห็นว่า เมื่ออ่านฎีกาของโจทก์แล้วไม่อาจทราบได้ว่า โจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหายในข้อใด ตอนใด หรือคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร คงฎีกาเพียงแต่ให้ศาลฎีกาพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาที่เคลือบคลุมไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน