คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6344/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต.โอนที่ดินมรดกส่วนหนึ่งของ ต. ให้แก่ จ. โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จ. และนำที่ดินมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นทายาท ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ต. โอนที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 2 โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งแก่ทายาท แม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ทั้งสองคดีจะฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นทายาทและขอให้แบ่งมรดกของ ต. แต่มูลคดีฟ้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมรดกคนละแปลงโอนให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ชอบคนละคราวกัน ซึ่งถือได้ว่ามิใช่เรื่องเดียวกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตาม ชูวงศ์ กับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายตาม ชูวงศ์ โดยนายเติมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายตามกับจำเลยที่ 1นายตามถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2526 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทายาทมีสิทธิรับมรดก 10 คน ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายตาม ที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 เนื้อที่ 31 ตารางวา เป็นทรัพย์มรดกของนายตาม จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องนำมาแบ่งให้ทายาททุกคน แต่จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 6278 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตระหว่างจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2528 และให้จดทะเบียนแบ่งมรดกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าคนละ 3.1 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ดิน 15.5 ตารางวา หากการแบ่งปันไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งห้าตามส่วนที่โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตามขอแบ่งโฉนดที่ดินเลขที่ 659ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามคดีหมายเลขดำที่ 283/2535 ของศาลนี้ แล้วมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตามในคดีนี้อีกทั้งที่เป็นมูลคดีเดียวกัน โจทก์ทั้งห้าสามารถฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกทรัพย์มรดกได้ในคราวเดียวกันกับคดีก่อนฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 6278 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ระหว่างจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2528 และให้จดทะเบียนแบ่งปันมรดกให้โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 คนละ 1.55 ตารางวา หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 ตามส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6278 ตำบลตลาดใหญ่ (สั้นใน) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ระหว่างจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2528 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งปันที่ดินมรดกดังกล่าวให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 0.3875 ตารางวา ให้โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 1.55 ตารางวา สำหรับวิธีการแบ่งนั้นให้ตกลงกันเองระหว่างเจ้าของรวมหากไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ขายโดยประมูลกันเองระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปว่าฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 283/2535 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าคดีก่อนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตามโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 659 ตำบลตลาดใหญ่ (สั้นใน) อำเภอเมืองภูเก็ตจังหวัดภูเก็ต มรดกส่วนหนึ่งของนายตามให้แก่นางจรื่น โปร่งพันธ์ โดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางจรื่น และนำที่ดินมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ซึ่งเป็นทายาทนายตาม ส่วนคดีนี้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายตามโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6278 ตำบลตลาดใหญ่ (สั้นใน) อำเภอเมืองภูเก็ตจังหวัดภูเก็ต ให้จำเลยที่ 2 โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งแก่ทายาท จะเห็นได้ว่าแม้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 ทั้งสองคดีจะฟ้องจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นทายาทนายตามและขอให้แบ่งมรดกของนายตาม แต่มูลคดีที่ฟ้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินมรดกคนละแปลงโอนให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ชอบคนละคราวกัน ซึ่งถือได้ว่ามิใช่เรื่องเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 283/2535 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share