คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2851/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินไม่ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 เกี่ยวกับประเด็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(18) การที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าโจทก์มีรายจ่ายซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(18) และปรับปรุงรายได้ของโจทก์เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำการประเมินในรายการนี้ไว้และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ ย่อมเป็นการข้ามขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19,20 จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 โจทก์ประกอบกิจการค้ายางพาราและได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์แล้วประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์เพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 เป็นเงิน 3,474,636 บาทปี 2526 เป็นเงิน 169,770 บาท และปี 2527 เป็นเงิน 10,054,726 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2537 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยจำเลยซึ่งมีตำแหน่งเป็นสรรพากรเขต 8 นายไพบูลย์ บุญแก้วสุข และนายปราโมทย์ นพศิริ ได้พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ลดภาษีที่ประเมินเรียกเก็บจากโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 จำนวน 3,474,636 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 จำนวน 167,770 บาท ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 ให้ลดภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มลงบางส่วนเป็นเงินรวม 7,500,893.13 บาท คงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี851,277.63 บาท เบี้ยปรับ 851,277.63 บาท และเงินเพิ่ม 851,277.63 บาท รวมเป็นเงิน2,553,833 บาท โดยให้เหตุผลว่าเจ้าพนักงานประเมินใช้ราคารับซื้อยางพาราแผ่นรมควันของศูนย์วิจัยยางสงขลา เป็นเกณฑ์กำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบของโจทก์เป็นการไม่ชอบโจทก์เห็นว่าเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าจะใช้ราคาซื้อยางแผ่นรมควันของศูนย์วิจัยยางสงขลาเป็นเกณฑ์กำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบของโจทก์ไม่ได้ก็ชอบที่จะเพิกถอนการประเมินทั้งหมดของเจ้าพนักงานประเมิน การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเหลือยอดเรียกเก็บภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินไว้จึงเป็นการไม่ถูกต้อง และถือได้ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หยิบยกเหตุอื่นขึ้นมาเรียกเก็บภาษีจากโจทก์อันเป็นการประเมินภาษีของโจทก์ใหม่โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย นอกจากนี้รายจ่ายค่าซื้อยางพาราที่โจทก์บันทึกในบัญชีและแสดงยอดในงบกำไรขาดทุนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 เป็นรายจ่ายตามความเป็นจริง โจทก์มีหลักฐานการซื้อยางพาราจากสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรถือเป็นรายจ่ายของโจทก์ได้แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กลับไม่ยอมให้การซื้อยางพาราของโจทก์จากสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรถือเป็นรายจ่ายค่าซื้อยางพาราของโจทก์ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยดี ทั้งยังมีเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของโจทก์ค้างรับคืนอยู่เป็นจำนวนเกินกว่าเงินภาษีที่โจทก์ถูกเรียกเก็บเพิ่มจึงชอบที่จะงดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์ในกรณีที่เห็นว่าโจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่ม ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8027/2/100004 ถึง 100008 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/100160 ถึง 100162 กับให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8027/2/100005 เลขที่ 8027/2/100008 และตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/10012

จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับการปรับปรุงรายจ่ายเฉพาะที่วินิจฉัยว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามมาตรา 65 ตรี(18) แห่งประมวลรัษฎากร คือ รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 จำนวน 1,621,823.01 บาท จำนวน 7,462,620.58บาท และจำนวน 1,374,268.61 บาท ตามลำดับตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/100160, เลขที่ 8027/2/100161 และเลขที่ 8027/2/100162 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 8027/2/100004 และเลขที่ 8027/2/100005 ลงวันที่ 3 เมษายน 2535 เลขที่ 8027/2/100006, เลขที่ 8027/2/100007 และเลขที่ 8027/2/100008 ลงวันที่ 27 เมษายน 2535 รวม 5 ฉบับ แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง 2527 ในแต่ละปีเป็นเงินจำนวน3,474,636 บาท จำนวน 169,770 บาท และจำนวน 10,054,726 บาท ตามลำดับ เนื่องจากเห็นว่าโจทก์แสดงราคาซื้อยางพาราแผ่นไว้สูงเกินไป จึงนำราคารับซื้อยางแผ่นตามประกาศของศูนย์วิจัยยางสงขลามาเป็นเกณฑ์กำหนด เมื่อปรับปรุงแล้วทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมดังกล่าว โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 และ 2526 เป็นจำนวนเท่ากับที่แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระทั้งหมดส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2527 ให้ลดภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มลงบางส่วนเป็นเงินรวม 7,500,893.13 บาท คงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 851,277.63 บาท เบี้ยปรับ851,277.63 บาท เงินเพิ่ม 851,277.63 บาท รวมเป็นเงิน 2,553,833 บาท โดยเห็นว่าเจ้าพนักงานใช้ราคารับซื้อยางแผ่นรมควันของศูนย์วิจัยยางสงขลาเป็นเกณฑ์กำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบของโจทก์เป็นการไม่ชอบแต่ได้ตรวจสอบหลักฐานการรับซื้อยางแผ่นดิบของโจทก์ตามเงื่อนไขของมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วเห็นว่า โจทก์มีรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับอันเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ปรากฏตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 8027/2/100160 เลขที่ 8027/2/100161และเลขที่ 8027/2/100162 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2537 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 3ถึง 4

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี(18) แห่งประมวลรัษฎากรชอบหรือไม่ ได้ความจากนายพิศุทธ์ ศักดา เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบภาษี พยานจำเลยว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบเอกสารของโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งใบสำคัญซื้อและใบสำคัญขาย มีการตรวจจำนวนสินค้า น้ำหนักของสินค้าที่ซื้อและขายไป ตลอดจนสินค้าคงเหลือจำนวนยางที่ซื้อ ขายและคงเหลือปรากฏตามบัญชีซื้อยาง บัญชีจำหน่ายยาง บัญชียางคงเหลือ จากการตรวจสอบในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525, 2526 และ 2527 ปรากฏว่าจำนวนยางที่ซื้อ ขาย และคงเหลือถูกต้อง นอกจากนั้นเมื่อตรวจดูเอกสารหมาย ล.5อันเป็นสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของโจทก์ในชั้นประเมินภาษีที่จำเลยอ้างส่งแล้วปรากฏจากรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีเอกสาร ล.5 แผ่นที่ 88ถึง 91 ระบุว่า ข้อ 1.3 ได้ตรวจสอบราคาซื้อยางพาราของโจทก์เปรียบเทียบกับราคารับซื้อยางแผ่นรมควันที่ได้จากศูนย์วิจัยยางสงขลาแล้วราคารับซื้อของโจทก์สูงเกินไปโดยปี 2528 ยอดซื้อยางแผ่นสูงไป 7,709,450.07 บาท ปี 2526 สูงไป 3,113,996.45 บาทปี 2527 สูงไป 7,256,493.18 บาท จากรายการดังกล่าวต้องนำไปปรับปรุงกำไร (ขาดทุน)สุทธิ ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ให้ถูกต้องต่อไปและ “ข้อ 3 ตรวจสอบรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี จากการตรวจสอบรายจ่ายต่าง ๆ แล้วไม่พบความผิดแต่อย่างใด” ได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบภาษีให้แก่นางพรทิพย์ พัฒนกุล ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 80 และ 81 ว่า จากการตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ รอบระยะเวลาบัญชี 2525 ถึง 2527 พบว่า ราคารับซื้อยางแผ่นของโจทก์สูงกว่าราคารับซื้อยางแผ่นรมควันของศูนย์วิจัยการยางหาดใหญ่ ตามตัวเลขดังกล่าวข้างต้น และต่อมาเจ้าหน้าที่จึงได้ออกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมซึ่งระบุว่า โจทก์แสดงยอดซื้อยางแผ่นไว้สูงไป ตามเอกสารหมาย ล.5แผ่นที่ 29, 30, 41 และ 42 จากพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าในชั้นตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 ถึง2527 เจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินเกี่ยวกับประเด็นรายจ่ายต้องห้ามตามาตรา 65 ตรี(18) การประเมินให้โจทก์ชำระภาษีนิติบุคคลเพิ่มเป็นการประเมินในประเด็นว่าราคารับซื้อยางแผ่นของโจทก์สูงไป และโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีรายจ่ายซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18) และปรับปรุงรายได้ของโจทก์เพิ่มขึ้นในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525ถึง 2527 ทั้ง ๆ ที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ทำการประเมินในรายการนี้ไว้และโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ เช่นนี้ ย่อมเป็นการข้ามขั้นตอนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 19, 20 จึงไม่ชอบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ต้องเสียภาษีอากรตามประเด็นที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมิน จะพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นอื่นนอกจากนั้นหาได้ไม่ เพราะมาตรา 31 วรรคสอง มิใช่บทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาประเด็นใดก็ได้”

พิพากษายืน

Share