แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิ่งปลูกสร้างที่ผู้เช่าช่วงปลูกสร้างขึ้นในที่ดินของผู้ให้เช่าถ้าไม่ปรากฏสัญญาระหว่างผู้เช่ากับผู้เช่าช่วงเป็นอย่างอื่นไม่ตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า
รัฐบาลไทยสัญญาให้ฝ่ายสหประชาชาติผู้ชนะสงครามเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยสหประชาชาติจึงมีอำนาจจัดทรัพย์สินของทหารญี่ปุ่น และขายทอดตลาดทรัพย์นั้นได้
การขายกุดังซึ่งต้องรื้อไป เป็นการขายอย่างสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องจดทะเบียนการตั้งตัวแทนก็ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แม้เจ้าของที่ดินเป็นผู้ซื้อแล้วไม่รื้อไปก็ไม่แตกต่างกัน
ก.ท.ส.ไม่มีอำนาจให้ผู้ใดใช้กุดัง ซึ่งโจทก์ซื้อจากสหประชาชาติจำเลยใช้กุดังนั้นโดยไม่รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นละเมิดจะอ้างว่าก.ท.ส. อนุญาตให้จำเลยใช้ไม่ได้
เงินวางศาลที่จะให้ยกเว้นไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และค่าฤชาธรรมเนียมนั้นต้องอยู่ในลักษณะที่จะให้คู่ความอีกฝ่ายรับไปได้ ถึงแม้จะไม่ยอมรับผิดถ้าจำเลยวางเงินเพียงเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ยังสงวนสิทธิต่อสู้คดีต่อไปไม่ใช่การวางเงินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา135,164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง และยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิด ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ สำหรับโกดัง 1, 2 เดือนละ 6,020 บาท52 สตางค์ สำหรับโกดัง 8, 9 เดือน 4,079 บาท ตั้งแต่วันที่โจทก์ประมูลซื้อโกดังนั้นได้ จนถึงวันที่จำเลยออกไปจากโกดังของโจทก์ รวมเป็นเงิน 159,388 บาท 91 สตางค์ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการชำรุดของสถานที่ คือค่าเสียหายในการซ่อมท่าเรือของโจทก์ 701,210 บาท ค่าซ่อมโกดัง 1, 2, 8 และ 9 เป็นเงิน 43,450 บาท กับให้จำเลยเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย25,000 บาทแทนโจทก์ ข้อเรียกร้องอื่น ๆ ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนกับให้จำเลยเสียค่าทนายชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 10,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว ทางพิจารณาเบื้องต้นได้ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งทรัพย์รายพิพาทตั้งอยู่โจทก์ได้ทำสัญญาให้บริษัทญี่ปุ่นชื่อ มิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัดเช่าที่รายนี้ และมีข้อสัญญาว่า เมื่อเลิกการเช่า ผู้เช่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินไปได้ ส่วนสะพาน เขื่อนและสิ่งที่อยู่ตั้งแต่หน้าดินลงไปจนใต้พื้นดินตกเป็นของเจ้าของที่ดิน กับมีข้อสัญญายอมให้ผู้เช่าให้เช่าช่วงที่ดินแก่ทางราชการทหารเรือญี่ปุ่นได้ด้วย
ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว ทหารเรือญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าใช้ที่รายนี้ในกิจการของทหารเรือญี่ปุ่น ทหารเรือญี่ปุ่นได้รื้ออาคารและท่าเรือเก่าออก แล้วสร้างขึ้นใหม่ สิ่งที่สร้างขึ้นใหม่คือท่าเรือ โกดังและถนน ทหารเรือญี่ปุ่นได้ใช้ทรัพย์เหล่านี้มาจนกระทั่งแพ้สงคราม
สำหรับโกดังหมายเลข 1, 2, 8 และ 9 ซึ่งเป็นปัญหามาสู่ศาลฎีกา โจทก์อ้างและนำสืบว่า ทางการทหารสหประชาชาติได้จัดการขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ โกดังรายนี้จึงเป็นของโจทก์เมื่อจำเลยเข้าใช้โกดังรายนี้ของโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายฝ่ายจำเลยให้การรับว่า สหประชาชาติได้จัดการขายเลหลังโกดังรายนี้จริง และโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ แต่จำเลยฎีกาเถียงว่า
(1) โกดังรายนี้ เดิมเป็นของบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัดซึ่งเป็นพลเรือนญี่ปุ่น ตามข้อสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่ารื้อถอนไปได้จำเลยมีพยานว่า บริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด เป็นบริษัทพลเรือนฉะนั้นจึงฟังได้ว่า บริษัทมิตซุบิชิไซยีไกชา จำกัด เป็นบริษัทของพลเรือนเอกชนและทรัพย์สินรายนี้ไม่ได้ใช้ในการทหาร
(2) สหประชาชาติไม่มีอำนาจขายเลหลังโกดัง โจทก์ผู้ซื้อย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจฟ้อง
(3) โกดังรายนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์ การตั้งตัวแทนทำการขายเลหลังต้องทำเป็นหนังสือ และการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(4) จำเลยไม่ได้ทำละเมิด เพราะจำเลยใช้โกดังรายนี้โดยความยินยอมของคณะกรรมการ ก.ท.ส. ซึ่งมีอำนาจโดยชอบที่จะให้จำเลยใช้โกดังรายนี้ได้
(5) โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์
ตามฎีกาข้อ 1 ของจำเลย ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า เมื่อทำสัญญาเช่ากับบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด แล้ว ทหารเรือญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าใช้ที่รายนี้ในกิจการของทหารเรือญี่ปุ่น ทหารเรือญี่ปุ่นได้รื้ออาคารและท่าเรือเก่าออกแล้วสร้างใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่คือท่าเรือ โกดังและถนน ทหารเรือญี่ปุ่นใช้ทรัพย์สินรายนี้ตลอดมาจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ศาลฎีกาเห็นว่า การนำสืบของโจทก์ดังกล่าวนั้น จำเลยไม่มีพยานหักล้างได้ คดีจึงฟังได้ดังโจทก์นำสืบเมื่อคดีรับฟังว่าทหารเรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงจากบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด เป็นผู้ปลูกสร้างโกดังรายนี้ และไม่ปรากฏข้อสัญญาระหว่างบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด กับทางการทหารญี่ปุ่นแล้ว ตามปกติก็ต้องถือว่าเป็นทรัพย์ของกองทหารญี่ปุ่นข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า จำเลยมีพยานว่าบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด เป็นบริษัทเอกชน และมีข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทมิตซุยบิชิไซยีไกชา จำกัด ว่า สิ่งปลูกสร้างเป็นของบริษัทมิตซุยฯ นั้น ไม่มีน้ำหนักลบล้างคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้วได้เพราะข้อสัญญาระหว่างบริษัทมิตซุยฯ กับโจทก์นั้น เป็นแต่กล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างว่าไม่ให้ตกเป็นของโจทก์ หาใช่มีข้อสัญญาว่า สิ่งปลูกสร้างซึ่งคนอื่นทำขึ้นให้ตกเป็นของบริษัทมิตซุยฯ ด้วยไม่ ข้อที่บริษัทมิตซุยฯ จะเป็นบริษัทเอกชนหรือไม่ จึงไม่เกี่ยวกับการแสดงว่าทรัพย์ที่ปลูกสร้างขึ้นเป็นของใคร
ฎีกาข้อ 2 จำเลยอ้างว่า สหประชาชาติไม่มีอำนาจขายเลหลังโกดังรายพิพาทนั้น โจทก์ได้อ้าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นพยานพยาน ให้การว่า เป็นเนติบัณฑิตไทย เป็นแบริสเตอร์แอตลอว์ของอังกฤษและได้รับปริญญา บี.เอ. ออกซ์ฟอร์ด ปริญญา บี.เอ.มีกฎหมายระหว่างประเทศรวมอยู่ด้วย พยานเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่เนติบัณฑิตยสภาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่ง เลขานุการศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีตอนเลิกสงครามโลกครั้งที่ 2 พยานเบิกความต่อไปว่า ในขณะที่พยานเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยได้เจรจาเลิกสถานะสงครามกับประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียและอินเดีย ทหารอังกฤษเข้ามาในประเทศไทยตามสัญญาที่รัฐบาลก่อนทำไว้ ณ เมืองแคนดี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2488 ยอมให้ทหารอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น และจัดการทรัพย์สินของญี่ปุ่น โดยถือว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามและเป็นศัตรูที่แพ้สงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นทรัพย์ของทหารญี่ปุ่นตลอดจนทรัพย์สินที่ใช้ในการสงคราม รวมทั้งทรัพย์สินของเอกชนที่ใช้ในการสงครามผู้ชนะมีอำนาจริบได้หมด แต่ทรัพย์สินของเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับการสงครามไม่ริบ การที่ให้ทหารอังกฤษเข้ามา นอกจากเพื่อปลดอาวุธและจัดการทรัพย์สินของทหารญี่ปุ่นแล้ว ได้รวมถึงการให้เขามีอำนาจจัดการตามกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวนั้นด้วยระหว่างเจรจาเลิกสถานะสงคราม ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมตัว และการควบคุมจัดกิจการ หรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ.2488 ขึ้น ที่มีกฎหมายนี้ขึ้นก็เพื่อช่วยทหารอังกฤษในเรื่องนี้ไม่ใช่เพื่อตัดอำนาจของเขา เพราะตัดไม่ได้ โดยเขายึดครองอยู่ ฉะนั้นทรัพย์สินใดสหประชาชาติจัดการอยู่แล้วตามอำนาจของเขา เราก็ไม่เกี่ยวข้อง ทรัพย์สินใดเขาไม่จัดการ เราก็เข้าจัดการ วิธีปฏิบัติของผู้ชนะสงคราม เขาจะทำอย่างไรก็ได้ ทำเกินกฎหมายก็ได้ น้อยกว่ากฎหมายก็ได้แล้วแต่ใจเขาเมื่อทหารสหประชาชาติจัดทรัพย์สินของเอกชนโดยพลการ ผู้เป็นเจ้าของมาร้องเรื่องผ่านมาถึงพยาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี พยานเคยสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปเจรจากับทหารสหประชาชาติบางทีก็ได้ผล บางทีก็ไม่ได้ผล
ศาลฎีกาเห็นว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พยานโจทก์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตอนเจรจาเลิกสถานสงคราม ย่อมอยู่ในฐานะรู้เห็นเหตุการณ์ ในเรื่องระหว่างสหประชาชาติกับประเทศไทยได้ดี ข้อความที่ ม.ร.ว. เสนีย์เบิกความนั้น ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้าง นอกจากนั้นยังได้ความจากนายสุนทร หงส์ลดารมย์ พยานจำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการ ก.ท.ส.ในเวลานั้นว่า สำหรับโกดังรายนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ก.ท.ส. แต่เมื่อทหารสหประชาชาติเข้าไปจัดการเสียเอง ก.ท.ส. ก็ทำอะไรไม่ได้และฝ่ายเราก็ไม่มีอำนาจที่จะไปคัดค้านอะไรได้
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำพยานโจทก์เป็นอันฟังได้ว่า รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาให้ฝ่ายสหประชาชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงครามเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น และทรัพย์สินของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงครามฉะนั้นฝ่ายสหประชาชาติ จึงมีอำนาจที่จะจัดการแก่ทรัพย์สินของทหารญี่ปุ่นได้เมื่อฝ่ายสหประชาชาติเป็นผู้มีสิทธิ และอำนาจกระทำการดังกล่าวแล้วก็ย่อมจัดการขายทอดตลาดโกดังเหล่านี้ได้โดยชอบ โจทก์เป็นผู้รับซื้อจากการขายก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์
ฎีกาข้อ 3 ของจำเลยกล่าวว่า โกดังรายนี้เป็นอสังหาริมทรัพย์การตั้งตัวแทนทำการขายต้องทำเป็นหนังสือ และการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า การขายนั้นเป็นการขายโดยเป็นที่เข้าใจว่าผู้ซื้อต้องรื้อเอาไป ซึ่งเป็นการขายอย่างขายอสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นการตั้งตัวแทนก็ดี การซื้อขายก็ดี จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังฎีกาของจำเลย แม้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่โกดังปลูกสร้างอยู่เป็นผู้ซื้อได้ ก็ไม่ทำให้การขายแตกต่างไปจากผู้อื่นเป็นผู้ซื้อ
ฎีกาข้อ 4 ของจำเลยกล่าวว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิด เพราะจำเลยใช้โกดังรายนี้โดยความยินยอมของคณะกรรมการ ก.ท.ส.ซึ่งมีอำนาจโดยชอบที่จะให้จำเลยใช้โกดังรายนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ได้ซื้อทรัพย์รายพิพาทมาเป็นของโจทก์โดยชอบ ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ก.ท.ส. ก็ไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้จำเลยใช้ทรัพย์ของโจทก์ และจำเลยไม่มีอำนาจอย่างไรที่จะใช้ทรัพย์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ เมื่อจำเลยใช้ทรัพย์ของโจทก์โดยไม่มีอำนาจก็ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ฎีกาของจำเลยข้อ 5 กล่าวว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ โดยกล่าวในฎีกาว่า จำเลยได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นแล้วว่าโกดังหมายเลข 1, 2 และ 8, 9 รวมทั้งการให้ใช้ท่าเรือด้วยจะให้เช่าหรือหาประโยชน์ได้เพียงเดือนละ 6,000 บาท และ 4,000 บาท ทั้งนี้ปรากฏจากคำยืนยันของพันตรีเนตร์ ลุลิตานนท์ นายประภาศ ณ สงขลา และนายอั๋น สีบุญเรือง พยานจำเลย และกล่าวต่อไปว่าการฟ้องเรียกเงินค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่เรื่องนี้ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือต่อกัน
คดีนี้ศาลแพ่งกำหนดค่าขาดประโยชน์สำหรับโกดังหมายเลข 1, 2 เป็นเงินเดือนละ 6,020 บาท 52 สตางค์ สำหรับโกดังหมายเลข 8, 9 เดือนละ 4,079 บาทสูงกว่าที่จำเลยฎีกามาเพียงรายละ 20 บาทเศษและ 70 บาทเศษ ตามลำดับ จำเลยอ้างว่า จำเลยมีพยานมายืนยันว่าโกดังรายนี้จะให้เช่าหรือหาประโยชน์ได้เพียงรายละ 6,000 บาทและ 4,000 บาทนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจคำพยานจำเลยดังที่จำเลยอ้างแล้วปรากฏว่า เป็นแต่พยานอธิบายและแสดงความเห็นไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีหลักคำนวณกันได้เป็นจำนวนตายตัว ทั้งการคำนวณตามที่จำเลยอ้างกับที่ศาลล่างคิดคำนวณมาก็ต่างกันเพียงเล็กน้อย ศาลฎีกาไม่เห็นมีเหตุอันควรที่จะแก้ไข ข้อฎีกาของจำเลยที่กล่าวว่า การฟ้องเรียกเงินค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์จึงฟ้องเรียกไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเช่า แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานะที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ ในการคำนวณค่าเสียหายในเรื่องนี้ก็คือ ในการที่จำเลยเข้าไปใช้โกดังของโจทก์โดยละเมิดนั้นทำให้โจทก์เสียหายเท่าใด การคำนวณค่าเสียหายก็คือโจทก์ขาดประโยชน์เป็นเงินเท่าใดด้วย สำหรับคดีนี้ก็คือ ถ้าจำเลยไม่เข้าไปใช้โกดังของโจทก์ โจทก์จะได้ผลประโยชน์จากการให้คนอื่นเช่าเดือนละเท่าใดจำนวนเงินที่คำนวณได้และให้จำเลยรับผิดนี้ ไม่ใช่เป็นการให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้เช่าหรือตามสัญญาเช่า แต่เป็นเงินค่าเสียหาย จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังฎีกาของจำเลย
ฎีกาข้อ 6 และข้อ 7 จำเลยกล่าวว่า ท่าเรือและโกดังของโจทก์ไม่เสียหาย และจำเลยไม่ได้ทำให้ท่าเรือและโกดังเสียหายการเสียหายถ้าหากจะมีขึ้น ก็เป็นการเสียหายอันเกิดขึ้นตามสภาพของทรัพย์สินนั้น ๆ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏชัดว่าเมื่อจำเลยเข้าไปใช้ท่าเรือและโกดังของโจทก์ นั้นได้มีการควบคุมการจำหน่ายข้าว พ่อค้าข้าวต้องมาซื้อข้าวที่องค์การข้าวของจำเลยซึ่งใช้สถานที่ท่าเรือและโกดังของโจทก์ วันหนึ่ง ๆ มีการขนข้าวขึ้นท่าเรือ เข้าโกดังและจำหน่ายจากโกดังเป็นจำนวนมากมาย มีรถบรรทุกขึ้นไปจอดบนสะพานท่าน้ำในขณะหนึ่ง ๆ ตามคำพยานโจทก์เป็นจำนวนตั้ง 100 คัน จริงอยู่การเสียหายในชั้นต้นก็ไม่มากนักดังจะเห็นได้จากหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบถึงการเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เขื่อนท่าเรือในตอนแรก ๆ แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยหาได้เอาใจใส่ซ่อมแซม หรือทำการป้องกันมิให้เกิดการเสียหายหนักขึ้นแต่ประการใดไม่ ความเสียหายจึงเกิดมากขึ้นทุกที พระประกอบยันตรกิจ นายช่างแห่งบริษัทคริสเตียนนี่แอนด์นิลเสน ผู้ได้ไปตรวจสอบสถานที่ก็ได้ให้การยืนยันตามรายงานการตรวจสอบว่า ถ้าการใช้ได้กระทำด้วยความระมัดระวังและป้องกันความเสียหายแล้ว ก็คงจะไม่เกิดการเสียหายเช่นที่ปรากฏนั้น จริงอยู่จำเลยพยายามแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ทำการซ่อมแซมด้วยเหมือนกัน แต่ก็ปรากฏว่าที่จำเลยซ่อมแซมบ้างนั้นก็แต่ในสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ของจำเลยไม่ได้เท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ความเสียหายในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะการที่จำเลยเข้าไปใช้ท่าเรือและโกดังของโจทก์ โดยมิได้เอาใจใส่ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และโดยการปล่อยปละละเลย ความเสียหายอย่างมากมายจึงได้เกิดขึ้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนในเรื่องจำนวนค่าเสียหายนั้น ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว จำเลยมิได้โต้แย้งว่า การคำนวณไม่ถูกต้องตรงไหนอย่างไรจึงไม่มีเหตุที่ศาลนี้จะแก้ไขให้เป็นอย่างอื่น
ฎีกาข้อ 8 ของจำเลยเป็นฎีกาซ้ำกับข้อที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจึงไม่ต้องวินิจฉัยอีก
ฎีกาข้อ 9 กล่าวว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงิน 169,924 บาท ที่จำเลยนำมาวางศาลสำหรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาล จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยหรือไม่นั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 135 และ 136 ทั้งสองมาตรานี้จะต้องอ่านรวมกันไปจะเห็นได้ว่า หลักกฎหมายในเรื่องนำเงินมาวางศาลนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อสู้คดีแต่เป็นเรื่องพยายามให้ได้มีการเลิกคดี หรือระงับข้อโต้แย้งกันมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าหากโจทก์ยอมรับจำนวนเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเป็นการพอใจตามที่เรียกร้องไม่ว่าจำเลยจะนำเงินมาวางเต็มตามจำนวนที่ฟ้องหรือไม่ก็ดี และไม่ว่าการวางเงิน เงินนั้นจำเลยจะยอมรับผิดหรือไม่ยอมรับผิดก็ดี คดีก็ย่อมจะเป็นอันเสร็จสิ้นกันไป โดยศาลจะต้องตัดสินไปตามนั้นและอุทธรณ์ฎีกากันต่อไปไม่ได้ แต่ถ้าโจทก์ยังไม่พอใจตามจำนวนที่จำเลยวาง โดยเห็นว่า ตนควรจะได้มากกว่านั้น จำเลยก็ชอบที่จะเลือกปฏิบัติต่อไปได้สองทาง ทางหนึ่งถอนเงินที่จำเลยวางไว้นั้นเสีย แล้วดำเนินคดีต่อไปเสมือนหนึ่งมิได้มีการวางเงินเลย หรืออีกทางหนึ่งจำเลยจะไม่ถอนเงินที่วางไว้ แต่ให้ศาลดำเนินคดีต่อไปเฉพาะจำนวนที่เหลืออยู่ก็ได้
การที่จำเลยนำเงินมาวางศาล และมิได้ถอนไปนั้นตามธรรมดาถ้าศาลมิได้สั่งเป็นอย่างอื่น การวางเงินนั้นจะต้องอยู่ในลักษณะที่โจทก์จะขอรับไปได้ หรือนัยหนึ่งอยู่ในลักษณะที่คดีหรือข้อหาที่จำเลยนำเงินมาวางนั้นสามารถจะระงับข้อโต้แย้งกันไปได้ จำเลยจึงจะได้รับประโยชน์จาก มาตรา 135 คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จำเลยนำมาวางนั้น
สำหรับคดีนี้ การที่จำเลยนำเงินมาวางศาลนั้นปรากฏตามคำแถลงของจำเลยว่า วางไว้ต่อศาลเป็นประกันการชำระค่าเช่าโกดังหมายเลข 1, 2, 8 และ9 ซึ่งจำเลยเห็นว่า ถ้าในที่สุดศาลตัดสินให้โจทก์ชนะคดีในส่วนนี้ จำเลยอาจจะต้องรับผิดชอบในต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระในปัญหาเรื่องค่าเช่าดังที่กล่าวมา จำเลยจึงได้นำเงินมาวางศาล แต่จำเลยยังคงสงวนสิทธิที่จะต่อสู้คดีต่อไป ศาลนี้เห็นว่า การวางของจำเลยมิได้เป็นไปในลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การวางเงินของจำเลยจึงมิใช่เป็นการวางตามมาตรา 135, 136 จำเลยจะถือเอาประโยชน์ไม่ยอมเสียดอกเบี้ยตามมาตราดังกล่าวหาได้ไม่ ส่วนเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมก็เช่นเดียวกันเมื่อจำเลยไม่สามารถถือเอาประโยชน์จากการวางเงินของจำเลยตามมาตรา 135, 136 แล้ว จำเลยก็จะถือเอาประโยชน์ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตาม มาตรา 164 ไม่ได้เช่นเดียวกัน
อาศัยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาคงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยเสียค่าทนายความในชั้นนี้ 20,000 บาท แทนโจทก์ด้วย