คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 1 เม็ด ให้แก่สายลับ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและยึดได้เมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายที่จำเลยอีก 4 เม็ด ดังนั้น แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับจะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีลักษณะของการกระทำต่างกัน เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม
การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมและเรียงกระทงลงโทษ มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้แยกลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง การที่ศาลรวมโทษที่วางแต่ละกระทงแล้วจึงลดโทษให้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2544 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสาม(2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์ของแอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย
ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับ
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก0.450 กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด การกระทำทั้งสองกรรมต่างเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่งตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท ดังนั้นโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด น้ำหนักรวม 0.450กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ดังกล่าวจำนวน1 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 100 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และริบหลอดกาแฟของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี ริบหลอดกาแฟของกลาง

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 5 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยได้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 1 เม็ด ให้แก่สายลับของเจ้าพนักงานตำรวจในราคา 100บาท ภายหลังจากที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับไปแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจยังตรวจค้นและยึดได้เมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายที่จำเลยอีก 4 เม็ดดังนั้น แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับจะเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมีลักษณะของการกระทำต่างกันเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 5 เม็ด ก็เป็นการกระทำความผิดกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด ให้แก่สายลับก็เป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่ง ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดต่างกรรมกันไว้แจ้งชัดแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม มิใช่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองควรจะลดโทษแต่ละกรรมก่อนแล้วจึงค่อยรวมโทษที่ลงแก่จำเลยซึ่งจะเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่านั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การลงโทษจำเลยที่กระทำความผิดหลายกรรมและให้เรียงกระทงลงโทษนั้น มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้แยกลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษภายหลัง การที่ศาลล่างทั้งสองรวมโทษที่วางแต่ละกระทงแล้ว จึงลดโทษให้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสาม(2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่งคงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับสำหรับคดีที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.450 กรัม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด การกระทำทั้งสองกรรมต่างเป็นความผิดตามมาตรา 66วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท ดังนั้นกรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง(เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุกกระทงละ4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share