คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4843/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น นอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นด้วย หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งรับมรดกมาจากบิดาเช่นนี้ ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์เองได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามแผนที่พิพาทสีแดงทางด้านทิศใต้เนื้อที่ 8 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท ห้ามเกี่ยวข้องต่อไป และให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ 8 ไร่ ตามแผนที่พิพาทสีแดงทางด้านทิศใต้แก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของนายเบ้า จำปาแดง บิดานายโสภาสามีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ที่ได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี 2498 และในปี 2508 นายเบ้าได้นำเจ้าพนักงานรังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวเพื่อขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมาปี 2513 นายเบ้าถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับโฉนดที่ดิน นายโสภาจึงยื่นเรื่องขอรับโอนมรดกที่ดิน ต่อมาในปี 2516 ทางราชการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้ ในปี 2517 นายโสภายื่นเรื่องขอรับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวพร้อมกับขอให้ลงชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน หลังจากนั้นนายโสภาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาโดยไม่มีบุคคลใดรบกวนการครอบครอง ประมาณปี 2530 จำเลยทั้งสามและนายโสภาตกลงให้โจทก์ทั้งสองเข้ามาร่วมทำนาพิพาท ตกลงแบ่งผลิตผลกัน เมื่อทำนาได้สองฤดูกาล โจทก์ทั้งสองตกลงขอเช่าทำนาจำเลยทั้งสามและนายโสภาจึงให้เช่าทางด้านทิศใต้ครึ่งหนึ่ง และได้รับค่าเช่าเป็นกระบือ1 ตัว จากนั้นโจทก์ทั้งสองได้เข้าทำนาพิพาทตลอดมา ต่อมาเดือนมกราคม 2540 โจทก์ทั้งสองติดต่อขอซื้อที่ดินพิพาทที่เช่าทำนาอยู่ในราคา 40,000 บาท นายโสภา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ตกลงขายให้และบอกเลิกการให้เช่าทำนาพิพาท แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยินยอมกลับนำคดีมาฟ้องขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์ทั้งสองกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9276 ของจำเลยทั้งสามต่อไป

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ ตลอดมาตั้งแต่บิดาโจทก์ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อบิดาถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองก็ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์ มิได้อาศัยสิทธิการเช่าตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง ในเดือนมกราคม 2540 จำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปไถหว่านข้าวในที่ดินพิพาทเพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าไปทำนา ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองโดยได้รับมรดกมาจากบิดา ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองที่ดินของตนเอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์และฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสาม พิพากษายกฟ้องและให้บังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม โดยห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9276 ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องมุ่งเรื่องการครอบครองปรปักษ์แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของตนเองได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์ทั้งสองและตัวโจทก์ทั้งสองที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้ง จึงทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามตกไปด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันจะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้นนอกจากจะต้องเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยังจะต้องเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของบุคคลอื่นอีกด้วย หากเป็นการครอบครองทรัพย์สินของตนเองแล้ว ก็หามีผลที่จะทำให้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ทั้งสองโดยได้รับมรดกร่วมกันมากับบิดาฝ่ายจำเลยการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทบิดาฝ่ายจำเลยกระทำการแทนบิดาโจทก์ทั้งสองที่ดินพิพาทจึงเป็นของบิดาโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาเป็นเวลา 40 ปีเศษ แล้วโจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องโดยมุ่งประสงค์จะกล่าวอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์ แต่โจทก์ทั้งสองกลับบรรยายฟ้องยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองซึ่งรับมรดกมาจากบิดาของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเองได้โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามโดยอ้างเหตุว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ไม่มีฟ้องของโจทก์ทั้งสองและตัวโจทก์ทั้งสองที่จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งได้นั้น เมื่อจำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้ได้”

พิพากษายืน

Share