คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัท ซ. เพียงแต่เป็นผู้ได้รับสิทธิในการทำซ้ำ เผยแพร่และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ในประเทศไทยแต่ผู้เดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งบริษัท ซ. คงมีลิขสิทธิ์เฉพาะในงานที่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปและมีสิทธิทำซ้ำเผยแพร่ต่อสาธารณชน กับจัดจำหน่ายภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6ในประเทศไทยได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6เพราะได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 แล้วเท่านั้น จึงไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ตามคำฟ้องในฐานะผู้สร้างสรรค์อยู่ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 11โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้
จำเลยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีไว้เพื่อขายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด แม้จำเลยไม่ได้เสนอขายและขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีให้ผู้อื่นด้วยก็ถือได้ว่าเป็นการมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำเพื่อการค้าซึ่งเป็นความผิดฐานหนึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1) ประกอบด้วยมาตรา 70 วรรคสอง แล้ว และกรณีไม่จำต้องมีเจตนาทุจริตเพราะความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541กำหนดให้ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม ลำดับที่ 120 โดยประกาศดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบแล้ว บริษัทโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อินดัสทรี่ส์ อิงค์. ผู้เสียหายที่ 1 บริษัททเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ฟิล์ม คอร์ปอเรชั่น ผู้เสียหายที่ 2 บริษัทดิสนีย์ เอ็นเตอร์ไพร์ส อิงค์. ผู้เสียหายที่ 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทม์ วอร์เนอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คัมปานี ผู้เสียหายที่ 4 บริษัทไทร์สตาร์ พิคเจอร์ส อิงค์. ผู้เสียหายที่ 5บริษัทยูนิเวอร์แซล ซิตี้ สตูดิโอ อิงค์. ผู้เสียหายที่ 6 และบริษัทนิวไลน์ โปรดัคชั่น อิงค์.ผู้เสียหายที่ 7 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดระยะเวลาในการสร้างสรรค์ โดยผู้เสียหายทั้งเจ็ดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ดังนี้ ผู้เสียหายที่ 1 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Element (เดอะฟิฟท์เอลเลเมนต์) Anaconda(อนาคอนดา) The Devil’s Own (เดอะเดวิลส์โอน) Bad Boys (แบดบอยส์) และMen in Black (เมนอินแบลก) ผู้เสียหายที่ 2 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง Volcano(วอลเคโน) Broken Arrow (โบรกเคนแอร์โรว์) Die Hard (ดายฮาร์ด) และ Independence Day (อินดีเพนเดนซ์เดย์) ผู้เสียหายที่ 3 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง Robin Hood (โรบินฮูด) A Bug’s Life (อะบักส์ไลฟ์) G.I.Jane (จี.ไอ.เจน) และRansom (แรนซัม) ผู้เสียหายที่ 4 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง Demolition Man(ดีโมลิชั่นแมน) Bat Man (แบตแมน) Assassins (แอสแซสซินส์) Under Siege(อันเดอร์ซีจ) Bat Man & Robin (แบตแมนแอนด์โรบิน) และ Lethal Weapon(เล็ททอลเวปปอน) ผู้เสียหายที่ 5 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง Jerry Maguire(เจอรี่ แม็กไกวร์) ผู้เสียหายที่ 6 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ เรื่อง The Lost World(เดอะลอสต์เวิลด์) และ Water World (วอเตอร์เวิลด์) ส่วนผู้เสียหายที่ 7 สร้างสรรค์งานภาพยนตร์เรื่อง Blade (เบลด) และผู้เสียหายทั้งเจ็ดได้โฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์โดยมีประเทศไทยเป็นภาคีด้วย ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดโดยนำภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่บันทึกภาพและเสียงตามบัญชีรายชื่อภาพยนตร์วิดีโอซีดีท้ายฟ้อง ซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดรวม 245 แผ่น ออกขายเสนอขาย มีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ด เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีจำนวน 245 แผ่น ดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 61, 70,75, 76 และ 78 สั่งให้แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 245 แผ่น ของกลาง ตกเป็นของผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต และให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 7 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 7 ตามลำดับ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (ที่ถูกมาตรา 31(1)) และ 70 วรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 350,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลาง ให้ตกเป็นของผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดเป็นผู้สร้างสรรค์โดยเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ประเภทภาพยนตร์ตามคำฟ้อง และได้มีการโฆษณางานครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์ร่วมทั้งเจ็ดจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ตามวันเวลาเกิดเหตุในคำฟ้อง ร้อยตำรวจเอกภิรมย์ อยู่คง เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจกับพวกได้นำหมายค้นลงวันที่ 19 มกราคม 2542 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเอกสารหมาย จ.1 ไปขอตรวจค้นร้านนิวเกมส์ของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ตามที่นายคณิต เหลืองศิริโรจน์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดร้องทุกข์ไว้ผลการตรวจค้นพบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในทางภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดดังกล่าวข้างต้นจำนวน 245 แผ่น ตามบัญชีรายชื่อภาพยนตร์เอกสารหมาย จ.14 วางอยู่ในลิ้นชักของเคาน์เตอร์เก็บเงินในร้านดังกล่าว ร้อยตำรวจเอกภิรมย์กับพวกจึงยึดแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวไว้เป็นของกลางและจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ซึ่งในชั้นพิจารณาได้มีการตรวจนับจำนวนแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวน 246 แผ่น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้เสียหายคดีนี้หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า สำหรับประเทศไทยแล้วบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ผู้เดียวที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีในคดีนี้ เมื่อโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด (ที่ถูกโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6) มอบลิขสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่บริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แล้วโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด (ที่ถูกโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6) จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไป เห็นว่าแม้จะปรากฏว่านายรชต ธีระบุตร ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสบริษัทโคลัมเบียไทรสตาร์บัวนาวิสต้า (ประเทศไทย) จำกัด พยานโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดจะเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า การทำซ้ำและการจัดจำหน่ายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นสิทธิของบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และในแผ่นภาพยนตร์วิดีโอ ซีดี ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะมีข้อความระบุไว้ในตอนต้นว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดแต่ผู้เดียวห้ามผู้อื่นทำซ้ำ ดังที่จำเลยอ้างมาในอุทธรณ์ก็ตาม แต่นายรชตก็ได้เบิกความตอบคำถามติงของทนายโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดว่า บริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพียงแต่ได้รับสิทธิในการดัดแปลงระบบภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 มาเป็นแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ยังมีสิทธิที่จะเพิกถอนสิทธิของบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ตลอดเวลา และได้ความจากคำเบิกความของนายโชคชัย ทุติยาภรณ์ กรรมการบริหารบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พยานโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดว่า บริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพียงแต่เป็นผู้ได้รับสิทธิในการทำซ้ำ เผยแพร่และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ในประเทศไทยแต่ผู้เดียว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งบริษัทซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คงมีลิขสิทธิ์เฉพาะในงานที่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีและวิดีโอเทปและมีสิทธิทำซ้ำ เผยแพร่ต่อสาธารณชน กับจัดจำหน่ายภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ในประเทศไทยได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6เพราะได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์จากโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 แล้วเท่านั้น จึงไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ตามคำฟ้องในฐานะผู้สร้างสรรค์อยู่ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 11โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้และมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปอีกว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดโดยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดไว้เพื่อขายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือไม่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดมีร้อยตำรวจเอกภิรมย์ อยู่คง ผู้จับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานกับนายคณิต เหลืองศิริโรจน์และเจ้าพนักงานตำรวจอื่นอีกหลายคนได้พากันไปตรวจค้นร้านนิวเกมส์ของจำเลย พบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางอยู่ที่เคาน์เตอร์เก็บเงินซึ่งมีพนักงานเก็บเงินนั่งอยู่ เมื่อค้นพบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจำเลยและพนักงานเก็บเงินมีอาการตกใจชั้นจับกุมพยานได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าด้วยการขาย เสนอขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดี จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมายจ.4 ที่จำเลยได้ลงชื่อรับรองความถูกต้องไว้ และได้ความจากคำเบิกความของนายคณิตผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดซึ่งร่วมไปตรวจค้นร้านค้าที่เกิดเหตุพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดว่า สาเหตุที่พยานพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นร้านนิวเกมส์ของจำเลยเพราะก่อนเกิดเหตุนายเทียนชัยสืบทราบว่าร้านค้าดังกล่าวมีการเสนอขายและขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด เมื่อพยานพาเจ้าพนักงานตำรวจนำหมายค้นไปตรวจค้นก็พบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางซุกซ่อนอยู่ในลิ้นชักเคาน์เตอร์ในร้านนั้นจริง เมื่อพบของกลางพยานได้ยินเสียงพนักงานเก็บเงินพูดขึ้นว่า”นึกว่าจะหาของไม่เจอแล้ว” ส่วนจำเลยซึ่งอยู่ในร้านค้าที่เกิดเหตุก็ยอมรับกับเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยได้มีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางไว้จริงและขายด้วย นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดยังมีนายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2541 พยานได้ไปซื้อเครื่องเล่นเกมส์โซนี่เพลย์ สเตชั่น ที่ร้านนิวเกมส์ ของจำเลย ต่อมาในเดือนมกราคม 2542 พยานได้นำเครื่องเล่นเกมส์ดังกล่าวไปซ่อมที่ร้านดังกล่าว พบว่ามีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีวางอยู่บนตู้โชว์สินค้าที่เป็นตู้กระจก พยานได้สอบถามพนักงานขาย พนักงานขายได้นำอัลบัมแผ่นปกภาพยนตร์วิดีโอซีดีให้พยานดูด้วย และพยานจำได้ว่าพยานซื้อแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีไป 3 เรื่อง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด และช่วงก่อนวันที่ 10 มกราคม 2542 พยานได้ไปซื้อแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดี เรื่อง A Bug’s Life(อะบักส์ไลฟ์) ตามวัตถุพยานหมาย จ.77 จากร้านของจำเลย โดยร้านดังกล่าวจะมีถุงพลาสติกบรรจุสินค้ามอบให้พยาน ตามวัตถุพยานหมาย จ.78 ซึ่งมีชื่อร้านนิวเกมส์ของจำเลยพิมพ์อยู่บนถุงด้วย เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดดังกล่าวต่างก็ไม่เคยรู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะสมคบกันมาเบิกความหรือสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมาเองเพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ โดยเฉพาะร้อยตำรวจเอกภิรมย์ก็เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ไม่มีเหตุผลใดที่ร้อยตำรวจเอกภิรมย์จะต้องทำบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นมาโดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยให้ต้องรับโทษโดยไม่จำเป็นเพราะจะเป็นการเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องให้ต้องรับโทษในภายหลังได้ การที่นายคณิตไปร้องทุกข์และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจนพบแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางที่ร้านค้าที่เกิดเหตุก็เป็นเหตุผลที่สนับสนุนให้เห็นว่าข้อที่ฝ่ายโจทก์ร่วมสืบทราบมาว่าร้านค้าที่เกิดเหตุมีการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของฝ่ายโจทก์ร่วมเป็นความจริง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าขณะถูกจับกุมมีลูกค้ามามุงดูมาก เจ้าพนักงานตำรวจจึงให้จำเลยรีบลงชื่อในเอกสารเพื่อจะได้ออกไปจากร้านค้าที่เกิดเหตุโดยเร็ว ซึ่งจำเลยก็ยอมลงชื่อโดยเจ้าพนักงานตำรวจได้พลิกเอกสารด้านหลังให้จำเลยลงชื่อ จำเลยจึงไม่ได้อ่านข้อความในเอกสารนั้น เห็นว่าจำเลยเบิกความอ้างลอย ๆ และมิได้ถามค้านพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยในข้อนี้ไว้ การที่จำเลยมานำสืบข้างเดียวในภายหลังเช่นนี้ย่อมทำให้ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ จึงเชื่อได้ว่าชั้นจับกุมจำเลยได้ให้การรับสารภาพตามที่ร้อยตำรวจเอกภิรมย์บันทึกไว้ในบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวจริง หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องให้การรับสารภาพเช่นนั้น ส่วนข้อที่จำเลยเบิกความอ้างว่า จำเลยไม่ทราบว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางเป็นของผิดกฎหมายและจำเลยรับกับเจ้าพนักงานตำรวจแต่เพียงว่าจำเลยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวไว้ในร้านนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้เพราะขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมดังกล่าวข้างต้น การที่แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางถูกนำไปซุกซ่อนไว้ในลิ้นชักเคาน์เตอร์เก็บเงินและจำเลยมิได้สั่งซื้อแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจากผู้มีสิทธิดัดแปลงทำซ้ำในประเทศไทยหรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรงก็เป็นพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางจำนวน 245แผ่น (ที่ถูก 246 แผ่น) นั้น ประกอบด้วยภาพยนตร์ จำนวน 23 เรื่อง ตามบัญชีรายชื่อภาพยนตร์ท้ายบันทึกการตรวจค้นจับกุมเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งภาพยนตร์แต่ละเรื่อง 1 ชุดจะประกอบด้วยแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีจำนวน 2 แผ่น แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางแต่ละเรื่องจึงมีหลายชุด เช่น เรื่อง J.I.Jane (จี.ไอ.เจน) มีจำนวน 11 ชุด เรื่อง Anaconda(อนาคอนดา) มีจำนวน 10 ชุด เรื่อง Broken Arrow (โบรกเคน แอร์โรว์) และเรื่องBat Man (แบตแมน) มีจำนวนเรื่องละ 9 ชุด เป็นต้น หากจำเลยมิได้มีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีดังกล่าวไว้เพื่อขายในทางการค้าแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องมีไว้เรื่องละหลาย ๆ ชุด และนำมาเก็บไว้ในสถานประกอบการค้าของจำเลยเช่นนั้น สำหรับข้อที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ร้านค้าที่เกิดเหตุของจำเลยจะขายสินค้าประเภทเครื่องเล่นเกมส์พร้อมอุปกรณ์อย่างเดียวโดยร้านค้าของจำเลยมิได้ขายแผ่นวิดีโอซีดีด้วย แต่ที่แผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางตกมาอยู่ที่ร้านค้าที่เกิดเหตุเพราะมีการส่งสินค้ามาผิดร้านนั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้วคงเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่าเป็นข้อนำสืบที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีน้ำหนักที่จะนำมารับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดดังกล่าวข้างต้นได้โดยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่จำต้องนำมากล่าวซ้ำอีกข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดนำสืบว่า วันเกิดเหตุจำเลยมีแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางไว้เพื่อขายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งเจ็ด แม้พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งเจ็ดนำสืบจะรับฟังไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุจำเลยได้เสนอขายและขายแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีของกลางให้ผู้อื่นด้วยดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์แต่การกระทำของจำเลยตามที่ได้ความดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นการมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นภาพยนตร์วิดีโอซีดีที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำเพื่อการค้าซึ่งเป็นความผิดฐานหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31(1) ประกอบด้วยมาตรา 70 วรรคสอง ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องแล้ว และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำโดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ตามที่จำเลยยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์อีกเพราะความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วยไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…

อนึ่ง คดีนี้จำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และคำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างจึงมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ควรปรานีลดโทษให้จำเลยอีกหนึ่งในสี่ด้วย และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ระบุมาในคำพิพากษาให้บังคับค่าปรับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ด้วย เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรระบุเสียให้ชัดเจน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลย จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน15 วัน และปรับ 75,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ตามเดิม หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share