คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4680/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกหนี้ทำสัญญาจ้างเจ้าหนี้เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาวางแผนงาน จัดระบบบริหารงานทั้งหมดทั้งในกิจการของลูกหนี้ให้ได้ผลก้าวหน้าและตามที่ได้รับมอบหมายจากลูกหนี้ในการบริหารงานบุคคล การบริหารเงิน การบริหารการตลาด การบริหารการผลิต มีข้อตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน โดยการให้คำปรึกษาของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นการให้คำปรึกษาทางวาจา ซึ่งการให้คำปรึกษาในแต่ละครั้งไม่ได้ทำให้งานสำเร็จไปตามที่ลูกหนี้กำหนดไว้ กรณีจึงไม่ใช่สัญญาที่กำหนดจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น แม้สัญญาดังกล่าวจะกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ 5 ปี แต่การให้คำปรึกษาก็มิได้ผูกพันให้ลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามอันจะมีผลให้เกิดผลงานตามที่เจ้าหนี้ให้คำปรึกษาเสมอไป สัญญาจ้างที่ปรึกษาธุรกิจจึงมิใช่สัญญาจ้างทำของ แต่เป็นสัญญาจ้างบริการอย่างอื่นอันเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหนีจึงมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามสัญญา เมื่อค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว อำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้ย่อมสิ้นสุดลงตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเพียงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่7 กุมภาพันธ์ 2543 และมีคำสั่งตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแทน

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมูลหนี้ค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเป็นเงิน 10,800,000 บาท และมูลหนี้ค่าสินค้าเป็นเงิน 400,000บาท รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้ว ลูกหนี้โดยผู้ทำแผนโต้แย้งว่าไม่มีหนี้ค้างชำระแก่เจ้าหนี้รายนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเป็นเงิน 300,123.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้

เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วินิจฉัยโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เพียง 300,123.28 บาท จึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 เพราะสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างทำประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ว่าจ้างในลักษณะการให้ความคิด ให้คำแนะนำแนวทางในการดำเนินธุรกิจ วางแผนและจัดระบบบริหารงานทั้งหมด การทำงานเพื่อประโยชน์ผู้ว่าจ้าง (ลูกหนี้) งานจะหนักในช่วงต้นของการเข้าทำสัญญาเท่านั้น ในเดือนหรือปีต่อ ๆ มาผู้รับจ้าง (เจ้าหนี้) มีหน้าที่เพียงคอยสอดส่องปรับปรุงแก้ไขให้แผนงานเดินเข้าสู่เป้าหมายเท่านั้น และนอกจากนี้การที่ในสัญญาข้อ 2 เรื่องค่าตอบแทนได้ตกลงให้มีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ300,000 บาท อีกทั้งยังมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมนับตั้งแต่รอบปีบัญชี 2541 เป็นต้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 กรณีจึงแสดงให้เห็นได้ว่าลูกหนี้ในขณะทำสัญญาไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนในคราวเดียวจึงได้มีข้อตกลงทยอยจ่าย และขณะเดียวกันหากธุรกิจของลูกหนี้ดีขึ้น เจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติม สัญญาฉบับนี้ลูกหนี้ได้ยอมรับและปฏิบัติตามตลอดมาโดยได้ชำระเงินค่าจ้างมาแล้วจำนวน 24 ครั้ง ซึ่งถือได้ว่าลูกหนี้ได้ยอมรับและชำระหนี้บางส่วน ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือต่อไปจนครบถ้วนตลอดระยะเวลา5 ปี กล่าวคือ อีกจำนวน 36 เดือน เป็นเงิน 10,800,000 บาท ดังนั้น ลูกหนี้จึงมีหน้าที่รับผิดต่อเจ้าหนี้ตามข้อตกลงในสัญญาหรือได้รับค่าปรึกษาตามสัดส่วนที่เหมาะสม

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงชี้แจงว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจโดยมีสาระสำคัญว่า เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ในสัญญาดังกล่าวให้แก่ลูกหนี้โดยเจ้าหนี้มีหน้าที่จะต้องให้คำปรึกษาวางแผนทางธุรกิจ โดยลูกหนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งถึงผลกำไรเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหนี้ และหากลูกหนี้ได้มีการมอบหมายงานใดอันนอกเหนือจากที่ระบุในสัญญาลูกหนี้และเจ้าหนี้จะเจรจาคิดคำนวณสินจ้างในงานนั้นเป็นคราว ๆ ไป ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าลูกหนี้มุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จของผลงานที่เจ้าหนี้ได้ทำเป็นสาระสำคัญเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ถึงแม้ลูกหนี้ตกลงว่าจ้างเจ้าหนี้เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจโดยกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ก็เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาที่ลูกหนี้ตกลงว่าเจ้าหนี้เท่านั้น ส่วนการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระเงินตามสัญญาจ้างขึ้นอยู่กับความสำเร็จของงานที่ตนได้ทำและผู้ว่าจ้างจะใช้สินจ้างแก่ผู้รับจ้าง ก็ต่อเมื่อรับมอบการที่ทำแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 เมื่อทั้งสองฝ่ายรับกันในข้อเท็จจริงที่ว่ามีการจ่ายค่าสินจ้างไปแล้วรวมทั้งสิ้น 24 เดือน โดยในใบเสร็จรับเงินระบุว่าเป็นค่าปรึกษาและวางแผนที่มีกำหนดเวลาเป็นรายเดือนและลูกหนี้ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วส่วนค่าปรึกษาและวางแผนของเดือนมกราคม 2543 ที่ลูกหนี้ต้องชำระในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2543 ยังไม่ได้ชำระแก่เจ้าหนี้ จึงฟังได้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนการงานที่ได้ทำในเดือนมกราคม 2543 จำนวน 300,000 บาท ส่วนระยะเวลาที่เหลือนอกจากนี้เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นถึงความสำเร็จของงานที่ตนได้ทำว่ามีอะไรบ้างเพียงใดและลูกหนี้ได้รับประโยชน์อะไรจากการงานที่เจ้าหนี้ได้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจบ้าง ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ไม่สามารถพิสูจน์สิทธิของตนได้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าสินจ้างเพียงการงานที่เจ้าหนี้ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายที่ลุล่วงไปแล้วเท่านั้น ประกอบกับศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่าสิทธิตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2540 เป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งเจ้าหนี้ก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเป็นเงินจำนวน 300,000 บาทกับดอกเบี้ยจำนวน 123.28 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 300,123.28บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นต้นไปจนกว่าจะได้ชำระเสร็จจากลูกหนี้เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว

ผู้ทำแผนยื่นคำแถลงชี้แจงว่า การที่ลูกหนี้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ แท้จริงเป็นการชำระเงินค่าบำเหน็จกรรมการรายนายวิมล เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการของลูกหนี้ ลูกหนี้ไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะต้องไปรับปรึกษาจากเจ้าหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ต้องคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจของกรรมการลูกหนี้สิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/20 จึงไม่จำเป็นต้องจ่ายบำเหน็จให้แก่นายวิมล เตชะไพบูลย์อีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 300,000 บาทเศษ จึงเป็นคุณแก่เจ้าหนี้อยู่แล้ว เจ้าหนี้ไม่ได้มีการทำการงานหรือให้คำปรึกษาใด ๆ แก่กิจการของลูกหนี้ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ จากลูกหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ในแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วนั้น ได้กำหนดว่าสัญญาตามคำร้องของเจ้าหนี้เป็นสัญญาที่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ และผู้บริหารแผนได้แจ้งการไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ทราบโดยชอบแล้ว ดังนั้นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามสัญญาดังกล่าว

ศาลล้มละลายกลางตรวจสำนวนเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้

เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม2540 ลูกหนี้ได้ทำสัญญาจ้างเจ้าหนี้เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 โดยสัญญาจ้างดังกล่าวเจ้าหนี้จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาวางแผนงาน จัดระบบบริหารงานทั้งหมดในกิจการของลูกหนี้ให้ได้ผลก้าวหน้าและตามที่ได้รับมอบหมายจากลูกหนี้ในการบริหารงานบุคคล การบริหารเงิน การบริหารการตลาดการบริหารการผลิต โดยคู่สัญญาตกลงจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 300,000บาท และได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมโดยคำนวณจากผลกำไรก่อนหักภาษีเงินได้อีกส่วนหนึ่ง การให้คำปรึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการให้คำปรึกษาทางวาจาโดยกรรมการของลูกหนี้จะเชิญกรรมการหรือตัวแทนของเจ้าหนี้เข้าประชุมในบางเดือนลูกหนี้ก็ไม่ได้เรียกประชุมหลังจากทำสัญญาลูกหนี้ได้จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนแก่เจ้าหนี้ทุกเดือน เป็นเวลา24 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติม คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่า สัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้เป็นสัญญาที่มีผลบังคับได้เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาการให้คำปรึกษาของเจ้าหนี้ในแต่ละครั้งไม่ได้ทำให้งานสำเร็จไปตามที่ลูกหนี้กำหนดไว้ จึงไม่ใช่สัญญาที่กำหนดจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น แม้จะกำหนดระยะเวลาตามสัญญาไว้จำนวน 5 ปีก็ตาม แต่การให้คำปรึกษาก็มิได้ผูกพันให้ลูกหนี้จะต้องปฏิบัติตามอันจะมีผลให้เกิดผลงานตามที่เจ้าหนี้ให้คำปรึกษาเสมอไป สัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างทำของตามที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัย แต่เป็นสัญญาจ้างบริการอย่างอื่นอันเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหนี้จึงมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไปว่า เจ้าหนี้ควรได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจเป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า เมื่อสัญญาจ้างที่ปรึกษาทางธุรกิจดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างบริการอย่างอื่นอันเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่งที่มิได้กำหนดแยกประเภทไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลูกหนี้จึงมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และถือได้ว่ามูลแห่งนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์2543 ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ได้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้อีกแต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเพียงถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 เท่านั้น ที่ศาลล้มละลายกลางให้เจ้าหนี้ได้รับชำระค่าตอบแทนถึงเดือนมกราคม 2543 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เจ้าหนี้ยังได้รับชำระค่าตอบแทนไม่ครบถ้วนขาดอยู่อีก 7 วัน เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระค่าตอบแทนเป็นเงิน 370,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไปจนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้

Share