แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีเจตนาจะกระทำชำเราผู้เสียหายจึงฉุดผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายทันที แม้การที่จำเลยกระทำชำเราจะเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายด้วย และการกระทำของจำเลยมีลักษณะต่อเนื่องกัน แต่การที่จำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปในป่าข้างทางเป็นการแสดงเจตนาส่วนหนึ่งของจำเลยโดยมีเหตุจูงใจที่จะนำตัวผู้เสียหายไปกระทำชำเรา อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่สำเร็จไปแล้วต่างหากจากการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ถึงแม้ป่าซึ่งจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปกระทำชำเราจะอยู่ไม่ไกลจากทางเดินที่ผู้เสียหายเดินอยู่ก่อนมากนักก็ถือได้ว่าจำเลยได้พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก อีกกรรมหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายฉุดลากเด็กหญิงกิ่งกาญจน์ พันเดชผู้เสียหายอายุ 10 ปี ไปเพื่อการอนาจาร และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยา โดยใช้กำลังประทุษร้ายเอามะนาวยัดปากใช้ผ้ารัดปิดปาก และใช้เชือกมัดแขนและขาของผู้เสียหายจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคสอง, 284
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 277 วรรคสอง), 284 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 13 ปี จำคุก 12 ปีฐานพาเด็กหญิงไปเพื่อการอนาจารจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 15 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก คงลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปในป่าที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายนั้น เป็นความผิดฐานพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก แล้วมิใช่ไม่เป็นความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีเจตนาจะกระทำชำเราผู้เสียหายจึงตัดสินใจเข้าฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้วกระทำชำเราผู้เสียหายทันทีนั้น แม้การที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจะเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายด้วย และการกระทำของจำเลยดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ต่อเนื่องกันก็ตาม แต่การที่จำเลยฉุดตัวผู้เสียหายจากทางเดินเข้าไปในป่าข้างทางที่เกิดเหตุ เป็นการแสดงเจตนาส่วนหนึ่งของจำเลย โดยมีเหตุจูงใจที่จะนำตัวผู้เสียหายไปกระทำชำเรา อันเป็นการกระทำส่วนหนึ่งที่สำเร็จไปแล้วต่างหากจากการที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ดังนั้นถึงแม้ป่าบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยฉุดผู้เสียหายเข้าไปกระทำชำเราจะอยู่ไม่ไกลจากทางเดินที่ผู้เสียหายเดินอยู่ก่อนมากนักก็ถือได้ว่าจำเลยได้พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นบริเวณเดียวกันไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารอีกกรรมหนึ่งนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก อีกกรรมหนึ่ง จำคุก 3 ปี ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1