คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ห้างหุ้นส่วนมีวัตถุประสงค์ในการค้า ทำการขายที่ดินในทางการค้าไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
เมื่อครั้งคดีนี้ขึ้นสู่ศาลฎีกาครั้งแรกศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า จ. เจ้าพนักงานประเมินคนเดียวมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีผลบังคับให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาประเด็นอื่นแล้วพิพากษาใหม่ประเด็นเรื่องอำนาจประเมินของ จ. กับอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงยุติ โจทก์ฎีกาครั้งหลังอีกว่าไม่มีอำนาจประเมินแม้จะยกเหตุต่างกัน ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้
โจทก์ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ปีพ.ศ.2499-2501 เจ้าพนักงานประเมินจังหวัดสงขลาได้มีหมายเรียกลงวันที่ 12 กันยายน 2501 เรียกโจทก์เพื่อไต่สวนต่อมาโจทก์ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในจังหวัดพระนครเจ้าพนักงานประเมินในเขตจังหวัดสงขลาโอนเรื่องให้เจ้าพนักงานประเมินในเขตจังหวัดพระนครดำเนินการจึงได้มีหมายเรียกฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2508 ถึงโจทก์ หมายเรียกฉบับหลังจึงเป็นหมายเรียกซ้ำโจทก์จะอ้างว่าเพิ่งออกหมายเรียกเมื่อพ้นกำหนด5 ปีแล้วหาได้ไม่เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมได้
แม้เจ้าพนักงานประเมินที่มีหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนครั้งแรกจะมีความเห็นว่าโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ก็ตาม กรมสรรพากรซึ่งมีอำนาจหน้าที่และควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร ก็มีอำนาจสั่งให้ประเมินใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เดิมที่ดินสวนหมากตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นของขุนนครเขตต์จีนนิทัศน์และนายประชารัตรสาร และได้ตกลงกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมาก ให้ที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วน ต่อมาที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ทั้งสองโจทก์จัดการแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ แล้วขายครั้น พ.ศ. 2501 สรรพากรจังหวัดสงขลาได้เรียกโจทก์ที่ 1 ไปตรวจสอบเกี่ยวแก่ภาษีการค้าและภาษีเงินได้ ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2509 จำเลยที่ 2 ได้สั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากสำหรับปี พ.ศ. 2499 ถึง2501 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คือ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยทั้งสามวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้เป็นเงิน 33,512 บาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปี พ.ศ. 2499 พ.ศ.2500 และ พ.ศ. 2501ให้เพิกถอนคำสั่งและคำชี้ขาดของจำเลยที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ 3 ปีเป็นเงิน 33,512 บาท

จำเลยให้การว่า ที่ดินสวนหมากไม่ใช่ทรัพย์มรดกของโจทก์ แต่เป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ประกอบการค้าที่ดินโจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินภาษีเงินได้จากการไต่สวนจะต้องให้บุคคลสามฝ่าย การประเมินภาษีเงินได้คดีนี้มีนายจรูญเป็นเจ้าพนักงานประเมินเพียงคนเดียวจึงไม่ชอบ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ในระหว่างที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 112 (พ.ศ.2500) ยังใช้บังคับ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินคนเดียวที่จะดำเนินการ การประเมินภาษีเงินได้รายนี้และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่เสียไปมีผลใช้บังคับ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาใหม่ในประเด็นข้ออื่นต่อไป

ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินสวนหมากเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญบริษัทสวนหมากห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ในการค้า การขายที่ดินในทางการค้าไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้

ที่โจทก์ฎีกา นายจรูญไม่ใช่เจ้าพนักงานประเมินจังหวัดสงขลา ไม่มีอำนาจเหนือสรรพากรจังหวัดสงขลาที่จะประเมินแก้ไขได้ ทั้งนายจรูญก็ไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มตามมาตรา 20 ถึง 22 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะโจทก์ไม่เคยยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ที่กรุงเทพมหานครเลย การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์และคำวินิจฉัยของกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นโมฆะ เห็นว่า เมื่อครั้งคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาครั้งแรก ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า เจ้าพนักงานประเมินคนเดียวซึ่งหมายถึงนายจรูญมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ การประเมินภาษีเงินได้ดังกล่าวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีผลบังคับ ดังนี้ ประเด็นเรื่องอำนาจประเมินของนายจรูญกับอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงยุติ โจทก์ฎีกาครั้งหลังยกเรื่องการประเมินของนายจรูญและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเป็นโมฆะอีก แม้จะยกเหตุต่างกับเหตุที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แล้ว เมื่อประเด็นดังกล่าวยุติไปแล้ว โจทก์ย่อมฎีกาประเด็นนั้นในครั้งหลังนี้ไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้

ประเด็นสุดท้ายโจทก์ฎีกาว่า นายจรูญจำเลยที่ 2 ได้ออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2508 พ้นกำหนด 5 ปี จึงขาดอายุความนั้นปรากฏว่าภาษีเงินได้คดีนี้เป็นปี พ.ศ. 2499, 2500 และ 2501 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นแสดงรายการไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2500, 26 กุมภาพันธ์ 2501 และ 26กุมภาพันธ์ 2502 แต่ก่อนโจทก์จะยื่นแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ ปี พ.ศ. 2501 เจ้าพนักงานประเมินในเขตจังหวัดสงขลาได้มีหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร ที่ 444/2501 ลงวันที่ 12 กันยายน 2501 เรียกโจทก์ที่ 1เพื่อทำการไต่สวนเกี่ยวกับยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง แม้เจ้าพนักงานประเมินจะมีความเห็นว่าโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ก็ตาม กรมสรรพากรซึ่งมีอำนาจหน้าที่และควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ก็มีอำนาจสั่งให้ประเมินใหม่ได้ ต่อมาเมื่อเจ้าพนักงานประเมินในเขตจังหวัดสงขลาโอนเรื่องให้เจ้าพนักงานประเมินในเขตจังหวัดพระนครธนบุรีดำเนินการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ซึ่งย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในจังหวัดพระนครต่อไป หมายเรียกฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2508 จึงเป็นหมายเรียกซ้ำ หาใช่เพิ่งจะออกหมายเรียกตามที่โจทก์ฎีกาไม่ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมได้

พิพากษายืน

Share