แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เที่ยวบินกำหนดเวลาออกเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพเวลา 3.45 นาฬิกาจำเลยเดินทางมาที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ และถูกเจ้าพนักงานตรวจค้นจับกุมเมื่อประมาณ 3 นาฬิกา ขณะเข้าแถวรอเพื่อตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการเดินทาง แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตรวจลงตราเอกสารให้จำเลยผ่านขึ้นเครื่องบินก็ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว จึงเป็นความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 10,666.5 กรัมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 7,871.8 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยไปเพื่อจำหน่ายยังประเทศเอธิโอเปีย โดยจำเลยได้นำเฮโรอีนซุกซ่อนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง ติดตัวไปนอกราชอาณาจักรโดยทางเครื่องบินนำเฮโรอีนดังกล่าวไปยังเมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปียซึ่งจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยและจับกุมจำเลยได้พร้อมเฮโรอีน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 67, 102พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง และ 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 65วรรคสอง ฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ในชั้นจับกุม จำเลยให้การรับสารภาพแต่เฮโรอีนของกลางเมื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์มีจำนวนถึง 7,871.8 กรัม ซึ่งเป็นจำนวนมากและตามสภาพลักษณะแห่งความผิดเป็นการแพร่กระจายยาเสพติดไปทั่วโลกอันเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงต่อมวลมนุษย์ชาติ บั่นทอนความสงบสุขของสังคมและระบบเศรษฐกิจอีกทั้งเป็นการทำลายภาพพจน์อย่างร้ายแรงของราชอาณาจักรไทยในมุมมองของสังคมโลกประกอบพฤติการณ์การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายจำเลยมิได้สำนึกการกระทำความผิดกลับนำสืบปฏิเสธความผิดจึงสมควรลงโทษให้สาสมแก่ความผิดคดีไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ลงโทษประหารชีวิต ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยฎีกาว่าการกระทำผิดฐานดังกล่าวนี้ จะต้องฟังข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าจำเลยลงมือกระทำแต่กระทำไปไม่สำเร็จโดยการผ่านการตรวจของบัตรผ่านขึ้นเครื่องบินพร้อมที่จะเดินทางไปกับเที่ยวบินดังกล่าวแล้ว แต่ถูกจับกุมเสียก่อน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนังสือเดินทางของจำเลย บัตรขาออกด่านตรวจคนเข้าเมือง และตั๋วโดยสารเครื่องบินของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ได้ผ่านการตรวจลงตราของเจ้าพนักงานแล้วนั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าวันเกิดเหตุ เที่ยวบิน อี ที 641 ของสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ กำหนดเวลาออกเดินทางจากท่าอากาศยานกรุงเทพในเวลา 3.45 นาฬิกา จำเลยเดินทางมาที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ และถูกเจ้าพนักงานตรวจค้นจับกุมเมื่อประมาณ 3 นาฬิกา พร้อมยึดได้เฮโรอีนและเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ซึ่งระบุชื่อจำเลย กำหนดเวลาเดินทาง และสถานที่เดินทางไปในเที่ยวบินดังกล่าวข้างต้น โดยจำเลยก็นำสืบเบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยเข้าแถวรอเพื่อตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางแล้วถูกเจ้าพนักงานเรียกตรวจค้น ดังนี้ แม้เจ้าพนักงานจะยังไม่ได้ตรวจลงตราเอกสารให้จำเลยผ่านขึ้นเครื่องบิน ก็ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายด้วย จำเลยต้องมีความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษแก่จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) คงลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์