แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล. โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล. และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกัน แล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องเป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้ายหาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,236,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,020,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 28533 ตำบลบ้านควนอำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ไว้แก่โจทก์เป็นเงิน1,020,000 บาท โดยนายมณเฑียร วรวิทยานนท์ เป็นผู้รับมอบอำนาจทำการจดทะเบียนรับจำนองไว้แทนโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ไปจากโจทก์หรือไม่โจทก์มีนายมณเฑียรผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวประกันหนี้เงินกู้ โดยพยานได้มอบเงินกู้จำนวน 1,020,000 บาท ให้จำเลยในวันทำสัญญาจำนองเห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายมณเฑียรผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียว โดยตัวโจทก์มิได้มาเบิกความถึงรายละเอียดในส่วนสำคัญเป็นต้นว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันอย่างไรมาก่อนการกู้เงินมีข้อตกลงและมีลำดับขั้นตอนเป็นมาอย่างไร เป็นเหตุให้จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านตัวโจทก์โดยตรง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร โจทก์จะนำเงินมาจากที่ใดและโจทก์จะนับเงินก่อนส่งมอบแก่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์หรือไม่ และจำเลยจะใช้เวลานับเงินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตรังนานหรือไม่ มิใช่ข้อสาระสำคัญแห่งคดี เพราะสาระสำคัญแห่งคดีอยู่ที่ว่าจำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 หรือไม่เท่านั้นเห็นว่า การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีนั้น จำต้องวินิจฉัยจากการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนที่คู่ความนำเสนอต่อศาลโดยกอปรด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ มิใช่ว่าเมื่อคู่ความอ้างพยานบุคคลหรือพยานเอกสารใดมาแล้ว ศาลจะต้องรับฟังเป็นความจริงเช่นนั้นเสมอไปไม่ คู่ความยังมีหน้าที่จะต้องนำสืบให้ศาลเชื่อถือในพยานหลักฐานโดยโจทก์มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ให้สมฟ้องและจำเลยก็ต้องนำสืบให้สมข้อต่อสู้เช่นกันคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของนายมณเฑียรผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าจำเลยทำสัญญาจำนองที่ดิน ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนองจริง แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมูลหนี้ตามสัญญาจำนองว่ามิใช่การจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้โจทก์ และไม่เคยรู้จักโจทก์ การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานจึงไม่อาจอาศัยเพียงถ้อยคำของนายมณเฑียรผู้รับมอบอำนาจโจทก์ปากเดียวมารับฟังว่ามูลหนี้แท้จริงตามสัญญาจำนองคือหนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์กันอย่างไรมาก่อน รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ประกอบอาชีพใดเหตุใดโจทก์จึงตัดสินใจให้เงินจำนวนถึง 1,020,000 บาท ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูงให้จำเลยกู้ และโจทก์ได้ทำการตรวจสอบที่ดินที่นำมาจำนองเป็นหลักประกันว่ามีราคาเพียงพอประกันหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวหรือไม่ อีกทั้งโจทก์มีความสัมพันธ์กับนายมณเฑียรอย่างไรถึงกับยอมมอบเงินจำนวนมากให้นายมณเฑียรไปดำเนินการจดทะเบียนรับจำนองแทนโจทก์โดยลำพัง ข้อเท็จจริงดังกล่าวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อที่ศาลจำต้องนำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด มิใช่จะอาศัยแต่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและบันทึกต่อท้ายสัญญาจำนองโดยลำพังหาพอไม่ ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อปี 2538 นางลัดดาภริยานายมณเฑียรนำเงินมาให้จำเลยปล่อยกู้แก่บุคคลทั่วไปโดยจำเลยจะได้ค่าตอบแทนจากดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1ต่อเดือน ครั้งแรกจำเลยจะทำสัญญากู้เงินกับนางลัดดา แต่เนื่องจากนางลัดดารับราชการนางลัดดาจึงให้จำเลยไปทำสัญญากู้เงินไว้กับนางเมื้อนมารดานางลัดดาแทน ในการปล่อยกู้ปีแรกไม่มีปัญหาภายหลังต่อมาจำเลยไม่สามารถเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ นายมณเฑียรและนางลัดดาขอให้จำเลยคนต้นเงินและดอกเบี้ยที่ผู้กู้ค้างชำระทั้งหมดจำเลยไม่มีเงินให้จึงนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ นางลัดดาจึงคืนสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยข้อเท็จจริงตามที่จำเลยเบิกความดังกล่าวเจือสมกับที่นายมณเฑียรเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นางลัดดาเป็นภริยานายมณเฑียรและนางเมื้อนเป็นมารดานางลัดดา นอกจากนี้ปรากฏจากหนังสือสัญญากู้เงินว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนมิถุนายน 2539 ช่วงระยะเวลาเพียง 6 เดือน จำเลยกู้เงินแต่ละครั้งมากบ้างน้อยบ้าง มียอดเงินรวมทั้งสิ้น 527,200 บาท นับว่าค่อนข้างสูง แต่ละสัญญายังไม่ทันครบกำหนดเวลาชำระต้นเงินคืน จำเลยก็ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินฉบับใหม่ต่อเนื่องกันไปถึง 9 ครั้ง อันเป็นการผิดปกติวิสัยที่นางเมื้อนจะให้จำเลยกู้ไปง่ายดายในลักษณะเช่นนี้ และเมื่อพิจารณาประกอบเหตุผลที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นเพื่อนนางลัดดา และจากคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า นางลัดดารับราชการที่สำนักงานสรรพากรจังหวัดตรัง กับคำเบิกความของนางจิราภรณ์ชูอ่อน พยานจำเลยที่เบิกความว่า พยานเคยไปเป็นเพื่อนจำเลยไปเอาเงินของนางลัดดาและเคยเป็นผู้เขียนสัญญาให้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงสอดคล้องเชื่อมโยงกันมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยนำเงินจากนางลัดดามาปล่อยกู้ แต่นางลัดดาเป็นข้าราชการจึงให้จำเลยทำสัญญากู้เงินไว้กับนางเมื้อน ภายหลังจำเลยไม่สามารถเก็บดอกเบี้ยจากผู้กู้มาส่งนางลัดดาได้ นายมณเฑียรและนางลัดดาทวงต้นเงินทั้งหมดและดอกเบี้ยคืน จำเลยไม่มีเงินให้จึงนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ระบุเป็นหลักประกันไว้ในหนังสือสัญญากู้เงินมาจดทะเบียนจำนองประกันต้นเงินและดอกเบี้ยไว้แก่โจทก์นางลัดดาจึงยอมคืนสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับนางเมื้อนทั้งหมดให้แก่จำเลย เมื่อการที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์ แท้จริงเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อนางลัดดา โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า หนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุว่าจำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยจะนำสืบว่าไม่ได้รับเงินไม่ได้เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2)แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์…”การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จากนางลัดดาและดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกัน แล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนองจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติวรรคท้ายของมาตราดังกล่าว หาใช่นำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่จำเลยจึงย่อมมีสิทธินำสืบได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน