แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานอยู่ 2 กรณี คือ เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานทั่วไปซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไปและเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานที่พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากเป็นพนักงานของจำเลยเพราะเกษียณอายุเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ครบเกษียณอายุ โดยมิได้มีการชำระเงินจริงเพียงแต่ให้นำไปใช้ในการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น โจทก์ลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุและพ้นจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 โจทก์จึงพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนที่จะมีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี 2544จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี 2544
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในคดีสำนวนหลังเป็นโจทก์ที่ 117 และที่ 118 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งหมดคนละหนึ่งขั้นโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2543 หรือให้มีผลการเลื่อนขั้นเงินเดือนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิได้เลื่อนขั้นเงินเดือนตามระเบียบของโจทก์คดีขาดอายุความทำให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงขอสละประเด็นเรื่องอายุความและแถลงรับข้อเท็จจริงกันโดยต่างไม่ติดใจสืบพยานว่า จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการเกษียณอายุกำหนดให้พนักงานเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ และมีหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงาน 2 กรณี คือ การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานทั่วไป ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1มกราคม ของปีถัดไป ตามคำสั่งที่ 15/2537 เอกสารหมาย ล.2 กรณีหนึ่ง กับการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ของปีที่พนักงานผู้นั้นครบเกษียณอายุตามคำสั่งที่ 47/2523 เอกสารหมายเลข ล.1 อีกกรณีหนึ่งพนักงานที่เกษียณอายุจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งที่ 47/2523 จำเลยเคยจัดให้มีโครงการลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2537 ตามเอกสารหมาย ล.3 ครั้งที่สองเมื่อปี 2541 ตามเอกสารหมาย ล.4 และคณะกรรมการธนาคารจำเลยเคยมีมติไม่อนุมัติเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ให้แก่พนักงานที่ลาออกจากงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2541 ตามเอกสารหมาย ล.5 ต่อมาปี 2543 จำเลยได้จัดให้มีโครงการลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุขึ้นอีก ตามคำสั่งที่ 67/2543 เรื่องการลาออกจากงานตามโครงการร่วมใจจากองค์กร เอกสารหมาย ล.7 โจทก์ทั้งหมดเคยเป็นพนักงานของจำเลยได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 ด้วย การลาออกและได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการไปแล้ว โดยไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนจากจำเลยทั้งกรณีการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานทั่วไปและการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบแปดโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 17 ที่ 71 กับที่ 89ไม่มีอำนาจฟ้อง และไม่อาจนำหลักเกณฑ์การพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานตามคำสั่งจำเลยที่ 15/2537 และคำสั่งที่ 47/2523 มาใช้แก่กรณีของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบแปดได้ โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบแปด โดยโจทก์ที่ 17 ที่ 71 และที่ 89 มิได้อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องตนไม่มีอำนาจฟ้องมาด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 17 ที่ 71 และที่ 89 จึงไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเปลี่ยนไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์อื่นว่า จำเลยต้องพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งที่ 15/2537 ให้โจทก์ดังกล่าว เพราะเป็นสิทธิประโยชน์อื่นที่พนักงานพึงจะได้รับตามระเบียบการและคำสั่งจำเลยระบุไว้ในคำสั่งที่ 67/2543 เรื่องการออกจากงานตามโครงการร่วมใจจากองค์กรเอกสารหมาย ล.7 ข้อ 2.5หรือไม่ เห็นว่า นอกจากคู่ความจะแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยมีหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานอยู่ 2 กรณี คือ การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานทั่วไปตามคำสั่งที่ 15/2537 เอกสารหมาย ล.2 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีถัดไปกับการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานในปีที่ครบเกษียณอายุ ตามคำสั่งที่ 47/2523 เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่าเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยเพราะเกษียณอายุเป็นกรณีพิเศษที่ให้มีผลในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่ครบเกษียณอายุ เพื่อนำไปใช้ในการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้น โดยไม่มีการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มให้จริง อันแสดงว่าตามปกติพนักงานที่พ้นจากตำแหน่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานทั่วไป ตามคำสั่งที่ 15/2537 จึงได้มีคำสั่งที่ 47/2523เพื่อให้สามารถเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุได้เป็นกรณีพิเศษ โดยให้นำไปใช้ในการคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญเท่านั้นและไม่มีการจ่ายเงินเดือนที่เพิ่มให้จริง ซึ่งไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ที่จะใช้บังคับแก่กรณีการลาออกจากงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุของพนักงานได้และในคำสั่งที่ 15/2537 ก็กล่าวไว้ในข้อ 3ว่า “ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนปีละหนึ่งครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปี โดยใช้ข้อมูลในรอบปีที่แล้วมา ฯลฯ” โดยกำหนดรายละเอียดเป็นหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่ เพียงใด ไว้ในข้อ 5 ถึงข้อ 9 และให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 2 ว่า “เลื่อนขั้นเงินเดือน” หมายความว่า เลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานประจำปี “ในรอบปีที่แล้วมา” หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 ธันวาคม ของปี ก่อนปีเลื่อนขั้นเงินเดือน ทั้งข้อ 17 ยังกำหนดว่า “พนักงานผู้ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี แต่ได้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไปเสียก่อนที่จะมีคำสั่งขึ้นเงินเดือน ธนาคารจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานผู้นั้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งนี้ก็ได้”จึงเห็นได้ว่า พนักงานที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งที่ 15/2537 จะต้องเป็นผู้ที่ยังเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ในขณะที่มีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนซึ่งกระทำหลังวันสิ้นปี พนักงานที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเว้นแต่จำเลยจะเห็นสมควรผ่อนผันให้ตามความในข้อ 17 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16ที่ 18 ถึงที่ 70 ที่ 72 ถึงที่ 88 และที่ 90 ถึงที่ 188 พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 ก่อนที่จะมีการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี2544 และไม่ปรากฏว่าได้รับการผ่อนผันจากจำเลยให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามความในข้อ 17 ดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามคำสั่งที่ 15/2537 ที่จำเลยไม่พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ดังกล่าวจึงถูกต้องแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 16 ที่ 18 ถึงที่ 70 ที่ 72 ถึงที่ 88 และที่ 90 ถึงที่ 188 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน