แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกในศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งศาลชั้นต้นต้องใช้กฎหมายอิสลามและต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามนั้น หากศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้อง ศาลสูงก็มีอำนาจยกคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่ได้
ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามได้ เพราะถ้ามีคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามมาโดยถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายปิ บิดาโจทก์ถึงแก่กรรม ที่ดินรวม 20 แปลงของนายปิจึงตกได้แก่โจทก์ผู้เป็นบุตรแต่ผู้เดียวตามศาสนาอิสลามเพราะโจทก์เป็นชายจึงตัดทายาทอื่นหมดโจทก์ตัดไม้ตะเคียนบนคันนาของโจทก์ จำเลยห้ามและร้องอำเภออ้างว่า นายปิทำหนังสือยกที่ดินทั้งหมดให้จำเลย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ทั้งหมด
จำเลยที่ 1-2 ต่อสู้ว่า ที่ดินหมายเลข 1 ถึง 6 และ 10 ถึง 20 เป็นของนายยะโกะบิดาจำเลย นายยะโกะตายตกได้แก่จำเลยตามกฎหมายอิสลาม ส่วนที่ดินหมาย 7-8-9 เป็นของนายปิ ๆ ทำพินัยกรรมแบบ “วาซียะ” ยกให้จำเลยที่ 2 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
คู่ความตกลงกะประเด็นนำสืบว่า
1. ที่ดิน 17 แปลง หมาย 1 ถึง 6 และ 10 ถึง 20 เป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ อันเป็นมรดกตกได้แก่บิดาโจทก์และตัวโจทก์ในเวลาต่อมาหรือว่าเป็นของนายยะโกะบิดาจำเลย
2. นายปิ บิดาโจทก์มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหมาย 7-8-9ให้จำเลยได้หรือไม่ และได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้จำเลยที่ 2 จริงหรือไม่
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดิน 17 แปลงเป็นของนายปิ ตกได้แก่โจทก์และไม่เชื่อว่านายปิได้ทำหนังสือยกให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งหนังสือก็ไม่ได้ทำให้ถูกแบบ จึงไม่อาจใช้บังคับได้จึงพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกได้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1-2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาท 17 แปลงเป็นของนายปิ และจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าพินัยกรรมที่นายปิทำนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ที่พิพาททั้งหมดจึงตกได้แก่โจทก์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1-2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงประเด็นข้อ 1 ว่า ที่ดินพิพาท 17 แปลงเป็นของนายยะโกะบิดาจำเลย มิใช่เป็นของนายปิเจ้ามรดก ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าที่พิพาททั้ง 17 แปลงยังเป็นของนายปิบิดาโจทก์เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนประเด็นข้อ 2 ฟังว่านายปิได้ทำหนังสือจำหน่ายทรัพย์ของตนเมื่อตายไว้จริงดังที่จำเลยนำสืบแต่หนังสือนี้เป็นพินัยกรรมหรือไม่นายปิมีสิทธิทำได้หรือไม่ การวินิจฉัยย่อมเป็นผลให้ทรัพย์มรดกของนายปิตกได้แก่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่าโจทก์จำเลยเป็นอิสลามศาสนิก และเจ้ามรดกก็เป็นอิสลามศาสนิกการวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกในศาลจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นต้องใช้กฎหมายอิสลาม และต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในเรื่องนี้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าหนังสือทำไม่ถูกแบบใช้บังคับไม่ได้ โดยมิได้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยมรดกมาบังคับคดี และไม่มีดะโต๊ะยุติธรรมลงชื่อในคำพิพากษาชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามเรื่องพินัยกรรม จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีฯ พ.ศ. 2489 มาตรา 3-4 และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามได้ เพราะถ้ามีคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามมาโดยถูกต้องแล้วย่อมเป็นเด็ดขาดในคดีนั้น
จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานีฯ พ.ศ. 2489 เท่าที่จำเป็นแก่คดีแล้วพิพากษาใหม่ตามข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาชี้ขาดไว้