คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้

ย่อยาว

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันกระทำผิดคดีนี้ในชั้นไต่สวน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง คดีจึงดำเนินมาโดยมี ร.ต.อ.เสนีย์ตกเป็นจำเลยแต่ผู้เดียว โดยโจทก์ฟ้องว่าบังอาจกลั่นแกล้งจับกุมโจทก์มากักขังไว้ 27 วัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 310

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่จับโจทก์ โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งทั้งจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเสรีภาพ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ ฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

Share