คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แท่นไฮดรอลิกสำหรับเทน้ำตาลดิบออกจากรถยนต์บรรทุกซึ่งจอดอยู่บนแท่นไฮดรอลิกนั้นลงฉางเก็บ เป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายอันเกิดขึ้นแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่าเหตุที่เกิดความเสียหายสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 1
น้ำตาลดิบที่บรรทุกมาในรถยนต์บรรทุกมีความชื้นสูงจึงเกาะกันแน่น แต่มิได้มีการทำให้น้ำตาลดิบแตกตัวทั้งหมดก่อนแล้วจึงยกแท่นไฮดรอลิกขึ้นเท การที่น้ำตาลดิบเกาะกันแน่นอยู่นั้นย่อมทำให้น้ำหนักเฉลี่ยไม่สม่ำเสมอ เมื่อถ่ายน้ำหนักออกมาจากรถยนต์บรรทุกในทันทีทันใด จึงทำให้แหนบรถเกิดแรงต้านและดีดตัวรถให้ลอยขึ้นข้ามที่กั้นล้อแล้วดึงโซ่ที่มัดคานหน้าไว้ขาดก่อนที่จะไหลลงมากระโดดข้ามที่กั้นล้อทุกล้อ ถือไม่ได้ว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เพราะจำเลยที่ 1 อาจป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้โดยการทำให้น้ำตาลดิบที่บรรทุกมาในรถยนต์บรรทุกแตกตัวเสียก่อนที่จะนำรถขึ้นแท่นไฮดรอลิกเพื่อยกเทน้ำตาลดิบลงภาชนะที่รองรับนั้นได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1497 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0498 อุดรธานี จากบริษัทอุดร-วัฒนา (2520) จำกัด จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันวินาศภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอกที่อยู่ในบริเวณที่ตั้งของฉางเก็บน้ำตาลดิบของจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536เวลา 8.45 นาฬิกา นายเสถียร ศรีจอมพล ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-1501อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี บรรทุกน้ำตาลดิบมาที่ฉางเก็บน้ำตาลดิบของจำเลยที่ 1 แล้วขึ้นแท่นไฮดรอลิก ยกเทน้ำตาลดิบลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับเครื่องไฮดรอลิกดังกล่าวด้วย ความประมาทเลินเล่อในการบังคับเครื่องไฮดรอลิก เทน้ำตาลดิบจากรถดังกล่าวด้วยความเร็ว ทำให้การถ่ายเทน้ำหนักของน้ำตาลดิบไม่สมดุลกับน้ำตาลดิบที่ยังอยู่ในรถ และไม่ได้ตรวจสอบดูสภาพตะขอเกี่ยวตัวรถกับคานของโซโลว่าอยู่ในสภาพใช้การได้ดีหรือไม่ เป็นเหตุให้ตาขอเกี่ยวตัวรถกับคานขอไซโลขาดรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงดังกล่าวไหลไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน70-0497 อุดรธานี และรถลากพ่วง หมายเลขทะเบียน 70-0498 อุดรธานี ทำให้รถยนต์ทั้งสี่คันได้รับความเสียหาย โจทก์นำรถดังกล่าวไปซ่อมแซมให้มีสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 347,031.31 บาท จึงรับช่วงสิทธิ มาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยร่วมกันชำระหนี้จำนวน 347,031.31บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2536 อันเป็นวันที่โจทก์ชำระค่าเสียหายครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้อง ดอกเบี้ยเป็นเงิน 15,182 บาท รวมเป็นเงิน 362,443.31 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 362,443.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน347,031.31 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานชำรุดบกพร่องเสื่อมสภาพ ทำให้ขณะที่น้ำตาลดิบในรถลากพ่วงดังกล่าวไหลลงสู่ฉางเก็บแหนบซึ่งเป็นอุปกรณ์ยึดและรองรับรถเกิดแรงต้านดีดตัวรถให้ลอยข้ามที่กั้นล้อดึงโซ่ที่มัดคานหน้ารถขาดเคลื่อนข้ามที่กั้นล้อไหลไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0497 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0489 อุดรธานีได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุละเมิดจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 เวลา 8.45 นาฬิกา และเกิดจากรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี บรรทุกน้ำตาลดิบมาเกินอัตรา น้ำตาลมีความชื้นสูงจับตัวเป็นก้อน ขณะที่เครื่องไฮดรอลิกกำลังยกเท น้ำตาลดิบไหลลงสู่ฉางเก็บด้วยความเร็วผิดปกติ เนื่องจากน้ำตาลมีจำนวนมากเป็นเหตุให้แหนบของรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงดังกล่าวเกิดแรงต้านดีดตัวรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงกะทันหันกระชากโซ่ที่มัดคานหน้ารถยนต์บรรทุกขาด เหตุละเมิดมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 310,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดจนถึงวันฟ้องไม่เกิน 15,182 บาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการประกันวินาศภัย จดทะเบียน ณ ประเทศญี่ปุ่น และมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยโดยได้รับอนุญาตจากกรมประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ ให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย โจทก์มอบอำนาจให้นายโคเรทาคะ อิโนอุเอะ เป็นผู้จัดการสาขา มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมอบอำนาจช่วงได้ โจทก์โดยนายโคเรทาคะ มอบอำนาจให้นายจิระวัฏ ศิริสุขะ เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0497 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0498 อุดรธานี จากบริษัทอุดรวัฒนา (2520) จำกัด จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 เวลา 8.45 นาฬิกา รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี เข้าจอดที่แท่นไฮดรอลิกซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครอง ซึ่งอยู่ในบริเวณฉางเก็บน้ำตาลดิบของจำเลยที่ 1 โดยสถานที่ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.3 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ยกแท่นไฮดรอลิกยกรถบรรทุกและรถลากพ่วงดังกล่าวเพื่อเทน้ำตาลดิบออกจากรถลงฉางเก็บ เมื่อแท่นไฮดรอลิกยกทำมุมได้ประมาณ 40 องศา รถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงดังกล่าวไหลกระโดดข้ามที่กั้นล้อหลังแล้วไหลไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0497 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0498 อุดรธานี ทำให้รถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงได้รับความเสียหาย โจทก์นำไปซ่อมแซมและจ่ายค่าซ่อมแซมพร้อมค่าอะไหล่แล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2536 คดีมีปัญหาโต้เถียงกันในชั้นนี้เพียงว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่…

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี และรถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี ไหลลงไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0497 อุดรธานี และรถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0498 อุดรธานี ทำให้รถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงได้รับความเสียหายนั้น เกิดขึ้นในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กำลังยกแทนไฮดรอลิก เพื่อเทน้ำตาลดิบออกจากรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี ซึ่งจอดอยู่บนแท่นไฮดรอลิกนั้นลงฉางเก็บ แท่นไฮดรอลิกดังกล่าวเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดขึ้นแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่าเหตุที่เกิดความเสียหายสืบเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกา ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เหตุแห่งความเสียหายเกิดจากสภาพความชำรุดบกพร่องของแหนบรถยนต์ซึ่งบรรทุกน้ำตาลดิบคันเกิดเหตุนั้น ก็ได้ความตามคำเบิกความของนายณรงค์ ชมรัตน์ พยานจำเลยเพียงว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากแหนบรถของโจทก์ซึ่งมีลักษณะโค้งขึ้น เมื่อมีการยกแท่นไฮดรอลิกเพื่อถ่ายน้ำตาลดิบลงทำให้น้ำตาลไหลตัวมารวมกันที่ด้านท้ายและแหนบดังกล่าวได้ยุบตัวลงและเกิดอาการขัดข้อง เมื่อน้ำตาลได้ถ่ายตัวลงภาชนะรองรับแล้วแหนบดังกล่าวได้ดีดตัวขึ้นอย่างกะทันหัน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยพนักงานจำเลยที่ 1 ได้เปรียบเทียบแหนบของรถคันที่เกิดเหตุกับรถคันอื่น ทำให้ทราบว่ารถคันที่เกิดเหตุนั้นตัวแหนบชำรุดบกพร่องและรถปกติตัวแหนบจะคว่ำลง แต่รถคันเกิดเหตุจากการตรวจสอบปรากฏว่าตัวแหนบหงายขึ้น ตัวแหนบเมื่อผ่านการใช้งานมาระยะหนึ่งหูแหนบจะสึกทำให้เป็นร่อง เมื่อมีน้ำหนักกดตัวลงมา ตัวแหนบดังกล่าวจะทรุดตัวลงแล้วไปขวางตัวอยู่ในร่องที่ชำรุดหากหูแหนบไม่ชำรุดเมื่อมีการถ่ายเทน้ำตาลดิบลงสู่ที่รองรับแล้วตัวแหนบก็จะค่อย ๆยกตัวขึ้น แต่จากการที่หูแหนบสึกดังกล่าวและตัวแหนบไปขัดอยู่ในช่องที่ชำรุดนั้นทำให้เมื่อน้ำหนักที่กดอยู่บนตัวแหนบลดน้อยลงแล้ว ตัวแหนบจะยกตัวขึ้นอย่างกะทันหันอันเป็นผลให้ล้อด้านหลังของรถพ่วงลอยขึ้นเหนือแผงเหล็กที่กั้นอยู่เท่านั้น จำเลยหาได้นำตัวพนักงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเปรียบเทียบแหนบของรถคันที่เกิดเหตุกับรถคันอื่นดังที่นายณรงค์กล่าวอ้างถึง ตลอดจนช่างผู้มีความรู้ความชำนาญในการซ่อมแซมรถยนต์มาเป็นพยานยืนยันประกอบคำเบิกความของนายณรงค์แต่อย่างใด ทั้งนายณรงค์พยานจำเลยดังกล่าวก็คงเป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ทำหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเครื่องจักรที่เสียเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีความรู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมรถยนต์แต่ประการใด ลำพังเพียงคำเบิกความของนายณรงค์พยานจำเลยดังกล่าวจึงยังฟังไม่ได้ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากแหนบของรถลากพ่วงคันเกิดเหตุชำรุดบกพร่อง และแม้จะได้ความตามคำเบิกความของนายประบูร บัวเคล้า พยานจำเลยว่า หลังเกิดเหตุพยานได้ไปดูแหนบของตัวรถคันเกิดเหตุ ปรากฏว่าแหนบเสียหายปรากฏตามภาพถ่ายภาพที่ 10 และ 11 ตามเอกสารหมาย ล.9 ก็ตาม แต่ตามคำอธิบายประกอบภาพถ่ายทั้งสองภาพนั้นก็ระบุไว้ชัดแจ้งว่า ความเสียหายของรถบรรทุกพ่วงคันเกิดเหตุมีสาเหตุมาจากการชนกับที่กั้นล้อ มิใช่ความเสียหายที่มีอยู่ก่อนเกิดเหตุกรณีจึงฟังไม่ได้ว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0501 อุดรธานี และรถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0502 อุดรธานี ไหลกระโดดข้ามที่กั้นล้อหลังของแท่นไฮดรอลิกไปชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0497 อุดรธานี รถลากพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0489 อุดรธานี จนเกิดความเสียหายนั้นเกิดจากสภาพความชำรุดบกพร่องของแหนบรถยนต์ซึ่งบรรทุกน้ำตาลดิบคันเกิดเหตุดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และเมื่อพิจารณาถึงรายงานของบริษัทสำนักงานกฎหมายซี.ซี.ลอว์ จำกัด ที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.13 ที่สรุปสาเหตุของอุบัติเหตุโดยวิศวกรที่ปรึกษาของบริษัทดังกล่าวว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกน้ำตาลดิบมาจากจังหวัดอุดรธานี ระหว่างการเดินทางน้ำตาลมีความชื้นสูงจึงเกาะกันแน่น เมื่อเครื่องยกขึ้นเท น้ำตาลเป็นผลึกทำให้น้ำหนักเฉลี่ยไม่สม่ำเสมอ เมื่อน้ำหนักถ่ายออกทันทีทันใดทำให้แหนบรถเกิดแรงต้านดีดตัวรถให้ลอยขึ้นข้ามที่กั้นล้อแล้วดึงโซ่ที่มัดคานหน้าไว้ขาดก่อนที่จะไหลลงมากระโดดข้ามที่กั้นล้อทุกล้อเพราะน้ำหนักของตัวรถและน้ำตาลมีมาก ประกอบคำเบิกความของนายวารินทร์ ก๊กเครือ พยานจำเลยว่า ในวันเกิดเหตุมีพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ไผ่แทงไปที่น้ำตาลดิบเพื่อช่วยในการไหลของน้ำตาลจึงเชื่อได้ว่า ขณะเกิดเหตุน้ำตาลดิบมีสภาพเกาะกันแน่นจริงดังรายงานเอกสารหมาย ล.4 และ ล.13 แต่ก็ได้ความตามคำเบิกความของนายประยูร ว่า ในวันดังกล่าวพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้ไม้แทงน้ำตาลเพื่อให้ไหลเนื่องจากน้ำตาลเกาะเป็นก้อนผิวบนเท่านั้น ส่อแสดงว่ามิได้มีการทำให้น้ำตาลที่บรรทุกอยู่บนรถลากพ่วงคันเกิดเหตุแตกตัวทั้งหมดก่อนแล้วจึงยกแท่นไฮดรอลิกขึ้นเทแต่อย่างใดแล้ว น้ำตาลดิบซึ่งยังมีสภาพเกาะกันแน่นอยู่นั้นย่อมทำให้น้ำหนักเฉลี่ยยังคงไม่สม่ำเสมออยู่เช่นเดิมเมื่อถ่ายน้ำหนักออกมาจากรถลากพ่วงคันดังกล่าวในทันทีทันใด จึงย่อมทำให้แหนบรถเกิดแรงต้านและดีดตัวรถให้ลอยขึ้นข้ามที่กั้นล้อแล้วดึงโซ่ที่มัดคานหน้าไว้ขาดก่อนที่จะไหลลงมากระโดดข้ามที่กั้นล้อทุกล้อ ดังที่วิศวกรที่ปรึกษาของบริษัทสำนักงานกฎหมายซี.ซี.ลอว์ จำกัด ซึ่งได้ไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุทำรายงานสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุแก่บริษัทตามที่บริษัทดังกล่าวได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ไปตรวจสอบแล้วทำรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบ ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการเสียหายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เพราะจำเลยที่ 1 อาจป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้โดยการทำให้น้ำตาลที่บรรทุกมาในรถบรรทุกแตกตัวเสียก่อนที่จะนำรถขึ้นแท่นไฮดรอลิกเพื่อยกเทน้ำตาลลงภาชนะที่รองรับนั้นได้และเมื่อคดีฟังได้ว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงทั้งสี่คันเสียหายเกิดจากการใช้แท่นไฮดรอลิกซึ่งเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เช่นนี้แล้วจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย ล.3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกและรถลากพ่วงที่ได้รับความเสียหายและได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมแซมรถที่เสียหายนั้นไปแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share