แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การดำเนินการเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และของกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้
โจทก์บรรยายว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำว่า TRUSTY ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียน คำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
แม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 31 ได้แก่ อาหารสัตว์ ก็มิได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ชนิดใด หรือบ่งบอกคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่า เป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัย แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่า จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง แต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศสมาพันธรัฐสวิส จำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมการดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยมีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นข้าราชการในกรมจำเลยที่ 1ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า FRISKIES และเครื่องหมายอื่น ๆ ที่มีคำว่า TRUSTY ประกอบ เช่น เครื่องหมายคำว่า TRUSTY เป็นต้น โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าอาหารสัตว์ โดยสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีจำหน่ายและโฆษณาแพร่หลายทั่วไป นอกจากนั้นโจทก์ยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2540 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้าอาหารสัตว์ ตามคำขอเลขที่ 338046 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยโจทก์เห็นว่า คำว่า TRUSTY เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนต่อไป จึงได้ยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งมีจำเลยที่ 2เป็นประธานกรรมการนั้น มีคำวินิจฉัยยืนตามโดยเห็นว่าคำว่า TRUSTY มีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนนับว่าเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันโจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคำว่า TRUSTY นั้น เป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง เพราะคำว่า TRUSTY มีความหมายหลายความหมายเป็นทั้งคำคุณศัพท์และเป็นคำนามโดยคำคุณศัพท์มีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ส่วนคำนามมีความหมายว่า นักโทษที่มีความประพฤติดีหรือไว้วางใจได้ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษ ซึ่งความหมายในทางคำนามนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีความหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรง ส่วนความหมายในทางคำคุณศัพท์นั้น แม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่า ไว้วางใจ เชื่อถือได้ แต่ก็ไม่มีความหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรงเช่นกัน เพราะไม่ได้สื่อความหมายหรือบรรยายถึงรูปลักษณะของสินค้าอาหารสัตว์หรือแสดงถึงสรรพคุณหรือการใช้งานของสินค้าอาหารสัตว์แต่อย่างใด เครื่องหมายการค้า TRUSTY ของโจทก์จึงไม่มีคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง ตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะของโจทก์ ที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นนอกจากนี้โจทก์ยังได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยได้ผลิตจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY และได้โฆษณาสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY มาเป็นเวลานานจนแพร่หลายแล้ว และยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศแล้วด้วย เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนต่อไป คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 338046 นั้น จึงเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ. 0703/396 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1294/2542 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 338046 ให้จำเลยทั้งสองและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 338046 เพื่อรับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ เนื่องจากไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอเลขที่ 338046 ของโจทก์ และโดยอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและไม่ใช่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และโดยมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าประกอบด้วยอธิบดีกรมทะเบียนการค้า (ปัจจุบันเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา) เป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุดหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คนแต่ไม่เกิน8 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 11 มีนาคม 2539 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 338046 ของโจทก์ คดีนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่าTRUSTY ของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6นายทะเบียนจึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนอันเป็นคำสั่งตามมาตรา 16 ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กฎหมายให้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องต่อศาลได้อีก ทั้งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริตถูกต้องตามหลักกฎหมายตรงต่อข้อเท็จจริงและเป็นธรรมแล้ว กล่าวคือ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 กล่าวคือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 เพราะคำว่า TRUSTY แปลได้ว่าไว้วางใจเชื่อถือได้ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าอาหารสัตว์ทำให้เข้าใจว่าสินค้าอาหารสัตว์ภายใต้เครื่องหมายนี้น่าเชื่อถือพอที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ได้นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงขัดต่อมาตรา 7(2) จึงปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 เมื่อโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า TRUSTY มีความหมายว่า ไว้วางใจเชื่อถือได้เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนจึงนับว่าเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียน และให้ยกอุทธรณ์เสียอันเป็นคำสั่งตาม มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือของจำเลยที่ พณ.0703/396 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า1294/2542 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 338046 ต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 31 รายการสินค้าอาหารสัตว์ ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 338046 ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้เนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คำว่า TRUSTY ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะคำว่า TRUSTY เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โจทก์จึงยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY มีความหมายว่าไว้วางใจ เชื่อถือได้ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียน นับว่าเป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จึงมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียน และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1294/2542 เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 5
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะ จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่มิใช่เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่า พระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ และของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์หรือของเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 บัญญัติให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร กฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า และมาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้อำนาจหน้าที่ของส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้
(3) กองตรวจสอบ 2 มีอำนาจหน้าที่
(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
(4) กองทะเบียนและหนังสือสำคัญ มีอำนาจหน้าที่
(ก) ดำเนินการเกี่ยวกับการประกาศโฆษณา และการรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา…”
ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534จึงอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ถึงที่สุดตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง นั้นจะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าแม้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ดังนั้น หากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้โจทก์โดยอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนและโจทก์จดเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในหลายประเทศ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโจทก์โต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่นายทะเบียนและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า TRUSTY ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 6 เพราะคำว่า TRUSTY เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรงหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์อ้างว่า คำว่าTRUSTY ตามความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมีความหมายว่า ไว้วางใจเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ ส่วนความหมายอื่น ๆ นอกจากนี้คนทั่วไปโดยเฉพาะคนไทยไม่อาจรู้หรือเข้าใจ ดังนั้น การนำคำว่า TRUSTY มาใช้กับสินค้าอาหารสัตว์ดังกล่าวจึงเป็นการทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเชื่อมั่นว่าสินค้าอาหารสัตว์นั้นเป็นสินค้าที่ดีน่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้โดยปลอดภัย ทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์ สุขภาพดี ไม่ได้มีความหมายไปในทางโน้มน้าวหรือชี้แนะแก่ผู้พบเห็นทั่วไปให้สนใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการบ่งบอกถึงคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นด้วยว่าเป็นอาหารสัตว์ที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้นั้นเห็นว่าแม้คำว่า TRUSTY จะมีความหมายว่าไว้วางใจ เชื่อถือได้ แต่เมื่อนำไปใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 31 ได้แก่อาหารสัตว์ คำดังกล่าวก็หาได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงลักษณะของอาหารสัตว์ว่าเป็นอาหารสัตว์ชนิดใด หรือบ่งบอกคุณสมบัติของอาหารสัตว์ชนิดนั้นว่าเป็นสินค้าที่ดีทำให้สัตว์แข็งแรง สมบูรณ์สุขภาพดี น่าไว้วางใจที่จะนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้โดยปลอดภัยดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ แต่เป็นคำที่มีลักษณะไปในทางโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะซื้ออาหารสัตว์เกิดความสนใจในสินค้าชนิดนั้นมากกว่า คำว่า TRUSTY จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอาหารสัตว์โดยตรงไม่ แต่เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เมื่อนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 7 วรรคสอง(2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 เครื่องหมายการค้าคำว่า TRUSTY ของโจทก์จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ไม่ได้มีคำขอดังกล่าว เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 กำหนดให้ศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเสมอไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่ ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้วอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ