คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นภริยาของจำเลยมาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 หนี้ที่จำเลยหรือผู้ร้องก่อขึ้นเป็นส่วนตัวฝ่ายเดียวก็ไม่อาจเอาใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของอีกฝ่ายหนึ่งได้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479) จะเอาใช้จากสินบริคณห์ของทั้งสองฝ่ายได้ก็ต่อเมื่อเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดร่วมกัน (มาตรา 1480)
จะถือว่าเป็นสินบริคณห์แล้ว เจ้าหนี้ของจำเลยจะนำยึดเพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เสมอไปหาได้ไม่ ถ้าเป็นสินเดิมของผู้ร้องแล้วโจทก์จะนำยึดมาขายทอดตลาดได้ต่อเมื่อหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482
จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์เกิดแตกร้าวกันอย่างรุนแรงจนแยกกันต่างคนต่างอยู่กันมาหลายปีแล้ว แยกกันแล้วผู้ร้องได้สามีใหม่โดยจดทะเบียนสมรส จำเลยได้ฟ้องเพิกถอนการสมรสนั้นและในระหว่างนั้นผู้ร้องได้โอนขายที่พิพาทซึ่งเป็นสินเดิมของผู้ร้องให้แก่ผู้อื่นจำเลยก็จ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียว เพราะจำเลยพยายามอ้างและหวังอยู่ว่าที่พิพาทนี้เป็นสินสมรสซึ่งจำเลยอาจมีส่วนแบ่งด้วย นอกจากนี้จำเลยกับผู้ร้องยังเป็นความฟ้องร้องกันเรื่องอื่นอีก ดังนี้ ค่าจ้างโจทก์ว่าความคดีขอเพิกถอนการโอนนั้น กับเงินที่จำเลยกู้โจทก์มาใช้จ่ายในการเป็นความกับผู้ร้องย่อมไม่มีลักษณะเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1482
หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์ตามความหมายในมาตรา 1482(2) หมายถึงหนี้ที่เกี่ยวพันอยู่กับตัวทรัพย์ที่เป็นสินบริคณห์นั้นเอง เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตัวทรัพย์นั้นเป็นต้น

ย่อยาว

คดีนี้ เป็นเรื่องร้องขัดทรัพย์โดยโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าจ้างว่าความ 150,000 บาท และเงินกู้อีก 150,000 บาท รวม 300,000 บาท ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำให้ไว้ ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้อง จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์จึงนำยึดที่ดินตามตราจองเลขที่ 248 เพื่อขายทอดตลาด โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยมาแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นสินเดิมของผู้ร้องและเป็นสินส่วนตัวด้วย ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาก็เป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยสมยอมกันทำขึ้นขอให้สั่งถอนการยึด

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยขอให้ถอนการยึดไม่ได้ และหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เกิดขึ้นเพราะจำเลยต้องทำการป้องกันรักษาสิทธิและทรัพย์อันเป็นสินสมรสมิให้ต้องสูญเสียไป เป้นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ร่วม โจทก์ยึดสินบริคณห์มาชำระหนี้ได้

จำเลยยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกับโจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์

ผู้ร้องและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นสั่งปล่อยทรัพย์โดยถอนการยึดเสีย

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดแม้พิจารณาตามกฎหมายลักษณะผัวเมียก็ต้องถือว่าเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องกับจำเลย ซึ่งตามกฎหมาย ถ้าหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเป็นส่วนตัวฝ่ายเดียวก็ไม่อาจเอาใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของอีกฝ่ายหนึ่งได้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479)จะเอาใช้จากสินบริคณห์ของทั้งสองฝ่ายได้ก็ต่อเมื่อเป็นหนี้ที่ต้องรับผิดร่วมกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480) จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าสินบริคณห์รายนี้เป็นสินเดิมของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย เพราะถ้าเป็นสินเดิมของผู้ร้องก็ไม่ใช่เป็นสินบริคณห์ที่จะมีส่วนของจำเลยปะปนอยู่ด้วย อาจไม่ต้องรับผิดต่อหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเลยก็ได้จะถือว่าถ้าเป็นสินบริคณห์แล้วเจ้าหนี้ย่อมนำยึดเพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เสมอไปหาได้ไม่แล้วศาลฎีกาฟังว่าที่ดินรายนี้เป็นสินเดิมของผู้ร้อง และเห็นว่าเมื่อเป็นสินเดิมของผู้ร้องแล้วโจทก์จะนำยึดเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ก็ต่อเมื่อหนี้ตามคำพิพากษานั้นเป็นหนี้ร่วม หากเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเป็นส่วนตัวฝ่ายเดียวแล้ว หามีสิทธินำยึดไม่

ปัญหาต่อไปที่ว่า หนี้ที่จำเลยก่อขึ้นนั้นเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 หรือมิใช่ ปรากฏว่าจำเลยกับผู้ร้องเกิดแตกร้าวกันอย่างรุนแรงจนต่างแยกกันอยู่มาหลายปีแล้ว แยกกันแล้วผู้ร้องได้สามีใหม่จำเลยก็ฟ้องจนศาลสั่งเพิกถอนการสมรส ระหว่างนั้นผู้ร้องได้โอนขายที่รายนี้ให้แก่นายคล้าย จำเลยก็ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน ผู้ร้องก้ฟ้องขอหย่าขาดจากจำเลย ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนและพิพากษาให้หย่ากันแล้วในระหว่างที่คดีนี้อยู่ในชั้นศาลฎีกานอกจากนี้จำเลยกับผู้ร้องยังฟ้องร้องกันเรื่องอื่นอีก แสดงว่าต่างตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อกันตลอดมา และการที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินรายนี้ดังกล่าวนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่จำเลยฝ่ายเดียว โดยจำเลยพยายามอ้างและหวังอยู่ว่าที่ดินรายนี้เป็นสินสมรสซึ่งจำเลยอาจมีส่วนแบ่งด้วย ฉะนั้น หนี้ที่จำเลยก่อขึ้นอันเป็นค่าจ้างโจทก์ว่าความในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินและเป็นเงินที่จำเลยกู้โจทก์มาใช้จ่ายเป็นความกับผู้ร้องรวม 300,000 บาทนั้น จึงไม่มีลักษณะเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1482 แต่อย่างใด หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์ตามมาตรา 1482(2) น่าจะหมายถึงหนี้ที่เกี่ยวพันอยู่กับตัวทรัพย์ที่เป็นสินบริคณห์นั้นเองเช่น เงินกู้ยืมมาใช้จ่ายบำรุงรักษาตัวทรัพย์ที่เป็นสินบริคณห์เป็นต้น ส่วนหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการกระทำของจำเลยเพื่อมุ่งหวังจะเอาส่วนแบ่งให้เป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้นต้องถือว่าเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวโจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำยึดทรัพย์อันเป็นสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของผู้ร้อง

พิพากษายืน

Share