คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กันในทางแพ่งเฉพาะที่เกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และมาตรา 341 ซึ่งจำเลยได้กระทำผิดต่อโจทก์อันเป็นความผิดอันยอมความได้ สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงสมบูรณ์ใช้บังคับต่อกันได้ หาได้เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ภายในกำหนดตามสัญญาโจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์ได้ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างติดจำนองอยู่แก่ธนาคาร และตามสัญญาก็มีข้อความระบุชัดเจนว่าโจทก์ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองต่อธนาคารเอง โดยมิได้ระบุให้จำเลยต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับภาระจำนองแต่อย่างใดดังนั้น จึงไม่อาจให้จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปราศจากภาระจำนองหรือภาระติดพันอื่นใดเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ต้องรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปตามสภาพที่เป็นอยู่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เฉพาะส่วนในทางแพ่งที่จำเลยยักยอกฉ้อโกงเงินโจทก์ โดยจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โดยตีราคาบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาทแต่เนื่องจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีภาระจำนองอยู่เป็นจำนวน 180,000 บาท จึงตกลงกันว่าให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าขายได้เพียง 220,000 บาท แล้วจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยถือว่าจำเลยได้รับชำระเงินบางส่วนในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 220,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก180,000 บาท โจทก์จะไปไถ่ถอนจำนองต่อผู้รับจำนองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 และสิ่งปลูกสร้างตกลงตีราคากัน 600,000 บาท ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีภาระจำนองอยู่เป็นเงินจำนวน 450,000 บาท จึงตกลงกันว่าให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าขายได้เพียง 150,000 บาท แล้วจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยถือว่าจำเลยได้รับชำระเงินบางส่วนในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 450,000 บาท โจทก์จะไปไถ่ถอนจำนองต่อผู้รับจำนองในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดฉ้อโกงของจำเลยส่วนที่ยังขาดอยู่ จำเลยตกลงให้โจทก์เรียกร้องเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลย เมื่อถึงกำหนดนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จำเลยผิดนัดผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 ให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระจำนองหรือภาระติดพันอื่นใดเหนืออสังหาริมทรัพย์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานตำรวจมาควบคุมจำเลยไปที่สถานีตำรวจเพื่อจะดำเนินคดีแก่จำเลย โจทก์ข่มขู่จำเลยว่าหากไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้องจะติดคุกเป็นร้อย ๆ ปี จำเลยกลัวจึงทำหนังสือจะซื้อจะขายโดยถูกข่มขู่ โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เพราะโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบัญชีและการเงินโครงการ วาเลย์ เอด ชาเลย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2539 โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยจำเลยตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่42 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 420/7 ให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาทโดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 และจำเลยตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่17 6 ส่วน 10 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 167/62 ให้แก่โจทก์ในราคา600,000 บาท โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในวันที่ 14 มกราคม 2540 เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า หนังสือสัญญาจะซื้อขายเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า แม้ทางพิจารณาจะได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่ามูลเหตุในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายเนื่องมาจากจำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอม ลักทรัพย์นายจ้าง ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ของโจทก์ และขณะที่ทำหนังสือสัญญาดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาดังกล่าวแก่จำเลย ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยและบิดามารดาจำเลยขอร้องไม่ให้แจ้งความร้องทุกข์โดยยินยอมจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งทั้งหมดให้ จำเลยจึงทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งโจทก์เองก็ยินยอม ครั้นเมื่อจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามกำหนดในหนังสือสัญญา โจทก์จึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานปลอมเอกสารใช้เอกสารปลอม ลักทรัพย์นายจ้าง ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ของโจทก์ จนกระทั่งพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1476/2540 ก็ตาม แต่ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยได้ทำให้แก่โจทก์ไว้ข้อ 4 มีข้อความว่า “การขายที่ดินในครั้งนี้ผู้ขายได้ตกลงโอนขายให้กับผู้ซื้อเพื่อเป็นการชำระหนี้ในส่วนทางแพ่งที่ผู้ขายได้ทำการยักยอกฉ้อโกงทรัพย์สินของบริษัทผู้ซื้อไปเป็นจำนวนเงิน 1,700,000 บาท ผู้จะขายจึงตกลงจะโอนขายที่ดินและบ้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีราคาชำระหนี้ในเฉพาะส่วนทางแพ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นจำนวนเงิน 220,000 บาท โดยให้ถือว่าผู้ขายได้รับเงินดังกล่าวไปตามราคาที่ดินแล้ว ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ 180,000 บาท ให้ชำระกันโดยผู้ซื้อไปไถ่ถอนชำระหนี้จำนองให้กับธนาคารในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ส่วนจำนวนเงินที่เหลือบริษัทผู้ซื้อจะได้ไปเรียกร้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กระทำผิดต่อไป)”และตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่จำเลยได้ทำให้แก่โจทก์ไว้ ก็มีข้อความว่า “การขายที่ดินในครั้งนี้ผู้ขายได้ตกลงโอนขายให้กับผู้ซื้อเพื่อเป็นการชำระหนี้ในส่วนทางแพ่งที่ผู้ขายได้ทำการยักยอกฉ้อโกงทรัพย์สินของบริษัทผู้ซื้อไปเป็นจำนวนเงิน 1,700,000บาท ผู้จะขายจึงตกลงจะโอนขายที่ดินและบ้านเพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีราคาชำระหนี้ในเฉพาะส่วนทางแพ่งไม่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท โดยให้ถือว่าผู้ขายได้รับเงินดังกล่าวไปตามราคาที่ดินแล้ว ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ 450,000 บาทให้ชำระกันโดยผู้ซื้อไปไถ่ถอนชำระหนี้จำนองให้กับธนาคารในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ส่วนจำนวนที่เหลือบริษัทผู้ซื้อจะได้ไปเรียกร้องบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กระทำผิดต่อไป)” ข้อความในหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่คู่กรณีคือโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระหนี้กันในทางแพ่งเฉพาะที่เกี่ยวกับความผิดฐานยักยอกและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และมาตรา 341 ตามลำดับ ดังปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1476/2540 อันเป็นความผิดอันยอมความได้เท่านั้น หนังสือสัญญาจะซื้อขายจึงสมบูรณ์ใช้บังคับต่อกันได้หาเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามกำหนดในหนังสือสัญญา โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่ส่วนที่โจทก์ฟ้องและฎีกาขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์โดยปราศจากภาระจำนองหรือภาระติดพันอื่นใดเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า ในขณะทำหนังสือสัญญาจะซื้อขาย โจทก์ได้ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จะซื้อขายกันติดจำนองอยู่แก่ธนาคาร และตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายข้อ 4 ก็มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ซื้อคือโจทก์มีหน้าที่ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองต่อธนาคารเอง โดยมิได้ระบุว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้รับผิดเกี่ยวกับภาระจำนองแต่อย่างใดโจทก์จึงต้องรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปตามสภาพที่เป็นอยู่ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6910 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน และที่ดินโฉนดเลขที่ 20932 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share