คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 มิได้บังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว มาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรงเพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้นและสำหรับค่ารายปีนั้นมาตรา 8 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อปี 2542 ขณะที่จำเลยยังมีฐานะเป็นสุขาภิบาลปราณบุรีได้ประเมินให้โจทก์เสียค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 234,219 บาท ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2543สุขาภิบาลปราณบุรียกฐานะเป็นเทศบาลตำบลปราณบุรีได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่โจทก์โดยกำหนดค่ารายปีเป็นเงิน 13,875,372บาท ซึ่งโจทก์จะต้องเสียค่าภาษีเป็นเงิน 1,734,422 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมาจำเลยแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเป็นเงิน 486,368บาท ซึ่งโจทก์ชำระแล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยเพราะจำเลยกำหนดค่ารายปีขึ้นใหม่โดยไม่นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาเป็นหลักในการคำนวณและมิได้คำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สินที่ได้นำไปใช้ประเมินภาษีว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด จึงเป็นการคำนวณภาษีที่คลาดเคลื่อนทำให้โจทก์ต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 252,148 บาท คิดเป็นร้อยละ 107.6 และโจทก์ทำประโยชน์ในทรัพย์สินได้เพียง 108 วัน ใน 1 ปี ขอให้จำเลยประเมินใหม่โดยให้โจทก์ชำระเพียง 234,219 บาท ให้จำเลยคืนค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน252,149 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เดิมในปี 2540 ขณะที่จำเลยยังเป็นสุขาภิบาลปราณบุรีจะเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์จำนวน 749,300 บาทโจทก์ขอลดเหลือ 136,765 บาท ในที่สุดตกลงกันว่าในปี 2540 ให้เก็บ 187,325บาท ปี 2541 ให้เก็บ 374,650 บาท ปี 2542 ให้เก็บ 561,975 บาท ปี 2543ให้เก็บ 749,300 บาท โจทก์จึงชำระค่าภาษีในปี 2540 ให้แก่จำเลยจำนวน187,325 บาท ตามที่ตกลง แต่ในปี 2541 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) แสดงทรัพย์สินไว้ 18 รายการ โจทก์ไม่ทำตามข้อตกลงโดยขอให้จำเลยลดภาษีลงเหลือเท่าที่จัดเก็บในปี 2540 คือ187,325 บาท หรือ ถ้าจะเพิ่มขอให้เพิ่มเพียงร้อยละ 25 ของฐานภาษีปี 2540ซึ่งคณะกรรมการสุขาภิบาลปราณบุรีไม่เห็นด้วยโดยมีมติให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 และแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษี 280,988 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอลดคณะกรรมการสุขาภิบาลปราณบุรีมีมติให้ลดโดยเก็บเพียง 234,219 บาทในปี 2542 โจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 แจ้งทรัพย์สินไว้ 18 รายการเช่นเดิม แต่ไม่ทำตามข้อตกลงโดยยังชำระค่าภาษีจำนวน 234,219 บาท ให้จำเลยปี 2543 โจทก์ยื่นแบบ ภ.ร.ด. 2 แจ้งทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีก 8 รายการ รวมเป็น26 รายการ ส่วนจำเลยซึ่งมีฐานะเป็นเทศบาลแล้วได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีขึ้นเพื่อพิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประเภทต่าง ๆ ในเขตเทศบาลโดยพิจารณาว่าการจัดเก็บภาษีในปี 2543 ให้จัดเก็บในอัตราของฐานะภาษีปี 2542 เป็นหลักแต่เมื่อพิจารณาถึงโรงงานน้ำตาลทรายของโจทก์แล้วเห็นว่า อัตราภาษีที่โจทก์เสียในปี 2541 และ 2542 นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและอยู่ในอัตราที่ต่ำโดยคิดต่อตารางเมตรแล้วไม่ถึง 0.50 บาท ไม่เหมาะสมสำหรับปี 2543จึงให้ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นในอัตรา 5 บาท ต่อตารางเมตร พื้นที่ต่อเนื่องให้คิดในอัตรา 1 บาท ต่อตารางเมตร และแจ้งยอดค่าภาษี จำนวน 1,734,422 บาท แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยพิจารณาการประเมินใหม่โดยขอให้คิดค่าภาษีเท่ากับปี 2542 คือ จำนวน 234,219 บาท คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยจึงประชุมพิจารณาตรวจสอบและให้ใช้การแบ่งทำเลซึ่งมีการกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนให้แตกต่างกันในแต่ละทำเลที่ได้จัดทำขึ้นตามกฎหมายและตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ขณะที่จำเลยยังเป็นสุขาภิบาลอยู่มาเป็นหลักเกณฑ์ในการประเมินค่ารายปีของโจทก์ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ทำเล คือ ทำเลที่ 1 หมายถึงพื้นที่บริเวณริมถนนเพชรเกษมทั้งสองฝั่งเป็นต้น ส่วนทำเลที่ 2 หมายถึงพื้นที่บริเวณในตลาดปราณบุรีและบริเวณส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 จนถึงสุดเขตสุขาภิบาล โรงงานน้ำตาลของโจทก์อยู่ห่างจากถนนเพชรเกษมประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ในทำเลที่ 2 เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ราคาค่าเช่ามาตรฐานสากลเฉลี่ยต่อตารางเมตรอยู่ที่ 30 บาท คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่พิจารณาคำนึงถึงค่ารายปีที่ล่วงมา ลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินได้รับประโยชน์และโรงงานอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจแล้วเห็นสมควรกำหนดที่อัตรา 3 บาท ต่อตารางเมตรและไม่คิดค่ารายปีของเครื่องจักรโจทก์ ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทตามที่โจทก์ได้แจ้งในแบบ ภ.ร.ด.2 รายการที่ 25 และลดอัตราการคิดพื้นที่ต่อเนื่องจากอัตราเดิม 1 บาท เป็น 0.50 บาท ทั้งลดจำนวนเดือนจากเดิมที่คิด12 เดือน เป็นแค่ 7 เดือนครึ่งทำให้ค่ารายปีและค่าภาษีของโจทก์ลดลงอย่างมากโดยค่าภาษีเหลือเพียง 486,368 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์เป็นอย่างยิ่ง แต่โจทก์ก็ยังยืนที่จะให้จำเลยประเมินค่าภาษีของปี 2543 เท่ากับปี 2542 ที่โจทก์ยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ครบตามความเป็นจริง จำเลยจึงให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจทรัพย์สินของโจทก์เพื่อให้มีการแสดงรายการทรัพย์สินให้ถูกต้อง ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีเปลี่ยนสูงขึ้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินค่ารายปีเพื่อคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้วให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในปี 2540 เป็นเงิน 187,325 บาท ปี 2541 เป็นเงิน 234,219 บาทปี 2542 เป็นเงิน 234,219 บาท ส่วนในปี 2543 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษี (ภ.ร.ด.2) จำนวน 2 ฉบับ แจ้งทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 8 รายการรวมเป็นทรัพย์สิน 26 รายการ จำเลยจึงประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นและแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษี 1,734,422 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยขอให้คิดค่าภาษีเท่ากับปี 2542 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาแล้วแจ้งให้โจทก์ชำระค่าภาษีปี 2543เป็นเงิน 486,368 บาท โจทก์ชำระเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การประเมินเพื่อเรียกเก็บภาษีของจำเลยถูกต้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดค่ารายปีในการประเมินของเดิมปีที่ล่วงมาเป็นการประเมินโดยไม่ถูกต้องการที่จำเลยประเมินใหม่เพิ่มขึ้นโดยอ้างว่าของเดิมประเมินไว้ต่ำ จึงเป็นการประเมินโดยกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่โดยไม่นำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ให้นำการประเมินของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นเกณฑ์การประเมินนั้น เห็นว่าปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์นี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาจะเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง กฎหมายเพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริงและสำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปีแต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์และของจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงสอดคล้องต้องกันว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ซึ่งโจทก์ยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีในปี 2540 ถึงปี 2542โจทก์แจ้งรายการทรัพย์สินไม่ครบตามความเป็นจริง ครั้นจำเลยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ไปสำรวจทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงยื่นแบบ ภ.ร.ด.2 แจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อประเมินภาษีปี 2543 จำนวน 26 รายการ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8 รายการ แสดงว่าค่าเช่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ที่ใช้ในการประเมินเพื่อเสียภาษีในปี 2540 ถึงปี 2542 ไม่ถูกต้องและต่ำกว่าความเป็นจริงกรณีจึงถือได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดค่ารายปีของปี 2543 เสียใหม่ได้ ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 หาใช่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทำการประเมินกำหนดค่ารายปีของโจทก์โดยไม่นำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ให้นำการประเมินของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นเกณฑ์การประเมินดังอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ และการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้นำหลักเรื่องการแบ่งทำเลทรัพย์สินซึ่งมีการกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนแตกต่างกันในแต่ละทำเลมาใช้กับกรณีของโจทก์ โดยเห็นว่าทรัพย์สินของโจทก์อยู่ในทำเลที่ 2 กำหนดราคาค่าเช่าทรัพย์สินที่เป็นอาคารในอัตรา 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยในการผลิต เช่นบ่อน้ำ พื้นที่รวมและลานจอดรถพื้นที่รวมอัตรา 2 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน สำหรับพื้นที่ต่อเนื่องของโจทก์ก็กำหนดอัตรา 0.50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งลดจำนวนเดือนในการคิดค่ารายปีเหลือแค่7 เดือนครึ่ง แล้วประเมินภาษีของโจทก์เป็นเงินเพียง 486,368 บาทจึงนับว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินภาษีของโจทก์โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งโดยครอบครองและเหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะของจำเลย และโจทก์เคยช่วยเหลือบริจาคเงินเพื่อกิจการสาธารณะท้องถิ่นนั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง จึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share