คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5657/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 มิได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นตามคำฟ้องทั้งหมดเพราะหากศาลเห็นว่าประเด็นใดแม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยได้ อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์กับจำเลยตกลงร่วมกันซื้อที่ดินที่หมู่บ้านมาบลูกจันทร์ อำเภอปลวกแดงจังหวัดระยอง แล้วร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวมาด้วยกัน ต่อมาปี 2531 กรมชลประทานเวนคืนที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 35 ไร่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จึงเหลือที่ดินซึ่งโจทก์กับจำเลยร่วมกันครอบครองเนื้อที่ 46 ไร่เศษ จากนั้นในปี 2533 ทางราชการมีประกาศให้ที่ดินซึ่งโจทก์กับจำเลยร่วมกันครอบครองเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 โจทก์กับจำเลยจึงตกลงแบ่งแยกการครอบครองที่ดินออกเป็น 2 ส่วน เท่า ๆ กัน โจทก์ได้ที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและจำเลยได้ที่ดินทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อที่แปลงละ 23 ไร่69 ตารางวา ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2533 โจทก์นำเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเข้ารังวัดปักเขตในที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์เพื่อให้ทางราชการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก. 4-01 ที่ดินของโจทก์คือที่ดินแปลงเลขที่ 3กลุ่มที่ 455 หรือแปลงเลขที่ 455/3 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2536จำเลยยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยองอ้างว่าโจทก์นำรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 15 ไร่โดยโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่เพียง 7 ไร่ และในเดือนเดียวกันนั้นจำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่ปลูกมันสำปะหลัง สับปะรด และพืชผลอื่นในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยไปถอนคำคัดค้านการรังวัดที่ดินซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองแปลงเลขที่ 3 กลุ่มที่ 455 หรือแปลงเลขที่455/3 หมู่ที่ 2 ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยองเนื้อที่ 23 ไร่ 69 ตารางวา ซึ่งจำเลยยื่นไว้ต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำเลยรื้อถอนบ้านไม้ชั้นเดียวไม่มีเลขที่พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงดังกล่าวและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ใช้ค่าเสียหายอีกจำนวนปีละ 100,000 บาท นับถัดจากปีที่ฟ้องทุกปีจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์กับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองระเวิง – เขาสมเส็ด และตกลงแบ่งที่ดินกันคนละ 35 ไร่ โดยที่ดินส่วนของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตก และที่ดินส่วนของจำเลยอยู่ทางทิศตะวันออก เมื่อรังวัดปรากฏว่ามีเนื้อที่เพิ่มขึ้น จึงตกลงแบ่งที่ดินทางทิศเหนือของจำเลยให้โจทก์อีก 6 ไร่ 2 งาน ส่วนจำเลยได้เพิ่มอีก 2 ไร่ หลังจากนั้นจำเลยแบ่งการครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินแก่บุตร 2 คน คือนางสาวบุญชู พุดสมญา และนายสำลอง พุดสมญา คนละ 12 ไร่จำเลยเข้าทำประโยชน์และปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท ต่อมากรมชลประทานเวนคืนที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันตกเนื้อที่ 35 ไร่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ต่อมาในปี 2533 โจทก์นำเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินไปรังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 17 ไร่ จำเลยจึงทำหนังสือคัดค้านไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2536 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 1รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526โจทก์กับจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองระเวิง – เขาสมเส็ด เนื้อที่ 70 ไร่ ในราคา 230,000 บาทตามหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2526 กรมชลประทานนำสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่เพิ่มขึ้น 14 ไร่และถูกเวนคืนอยู่ในลำดับที่ 15 เนื้อที่ 35 ไร่คงเหลือเนื้อที่ 49 ไร่ตามสำเนาแผนที่และรายชื่อเจ้าของที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่1 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ได้รับหนังสืออนุญาตให้ได้รับการผ่อนผันให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (สทก.1) เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล.1 ส่วนจำเลยได้รับหนังสือสทก.1 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2528 ตามเอกสารหมาย ล.2 ครั้นปี 2533 ทางราชการประกาศให้ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2533 โจทก์นำรังวัดปักเขตที่ดินส่วนของโจทก์เนื้อที่29 ไร่ 35 ตารางวา เพื่อออก ส.ป.ก. 4-01 โดยที่ดินของโจทก์คือแปลงเลขที่ 3 กลุ่มที่ 455 หรือแปลงที่ 455/3 ตามสำเนาบันทึกการนำทำการรังวัดสำเนาแผนที่ที่ดินแปลงเลขที่ 455/3 และสำเนาแผนที่ต้นร่างเอกสารหมาย จ.6 จ.7 และ จ.16 ต่อมา วันที่ 21 มิถุนายน 2534 โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดิน บ้านเรือน และต้นไม้ที่ถูกเวนคืนจากกรมชลประทานเป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน979,122 บาท ส่วนจำเลยได้รับค่าทดแทนต้นไม้เป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 189,235 บาท จากนั้นวันที่ 24 มิถุนายน 2536 จำเลยยื่นคำคัดค้านต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดระยองว่าโจทก์นำรังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของจำเลยเนื้อที่ 15 ไร่ เพราะที่ดินส่วนของโจทก์มีเนื้อที่เหลือหลังจากถูกกรมชลประทานเวนคืนเพียง 8 ไร่ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.8 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 131(2) และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 142(1) ถึง (6) เพราะจำเลยได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1จึงไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อแต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเว้นแต่เข้าข้อยกเว้นตามอนุมาตรา (1) ถึง (6) นั้น เป็นการกำหนดขอบเขตของการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาล ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นปัญหาที่ศาลได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถาน และห้ามมิให้พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือคำขอท้ายฟ้อง แต่มิได้บังคับเด็ดขาดว่าศาลจำต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาดังกล่าวทั้งหมดเพราะหากศาลเห็นว่าประเด็นปัญหาใดแม้วินิจฉัยให้ ก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปก็อาจใช้ดุลพินิจไม่วินิจฉัยในประเด็นปัญหาดังกล่าวได้ อันเป็นอำนาจทั่วไปของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแล้ว ก็ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์หาได้ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิเนื่องจากเหตุที่จำเลยยื่นคำคัดค้านการที่โจทก์นำรังวัดที่ดินพิพาทไม่ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อีก ฉะนั้น การใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 131(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังที่โจทก์ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share