แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามกฎกระทรวงซึ่งออกตาม พระราชบัญญัติการขายยาจะระบุไว้ว่าให้ยื่นคำขอใบอนุญาตขายยาประเภท ง. ต่อแผนกสาธารณสุขจังหวัดแล้วให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบเสนอความเห็นไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตก็ดี เมื่อบัดนี้ตำแหน่งสาธารณสุขจังหวัดไม่มีแล้ว โดยมีอนามัยจังหวัดมาแทนตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมอนามัยในกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2496 ก็ต้องถือว่าตำแหน่งอนามัยจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานเกี่ยวแก่การออกใบอนุญาตขายยาตามกฎกระทรวงนี้
ผู้ขอใบอนุญาตขายยา แจ้งความเท็จในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตต่ออนามัยจังหวัดเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2497 เวลากลางวันจำเลยทั้ง 3 ได้บังอาจสมคบกันนำเอาความซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จมาแจ้งแก่ นายวิทยา สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยอนามัยจังหวัดปทุมธานี ผู้เป็นเจ้าพนักงานว่า นายทองดี กับ นางทองสุข จำเลยที่ 2-3 เคยทำงานอยู่ในร้านขายยาของนายประเสริฐ จำเลยที่ 1 และมีความรู้ความชำนาญในการขายยามาก่อนเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีโดยจำเลยเจตนาจะให้นายวิทยา สุวรรณรัตน์ พิจารณาเรื่องราวคำร้องขอรับใบอนุญาตขายยาประเภท ง. ซึ่งจำเลยที่ 2-3 ยื่นต่อนายวิทยาไว้ก่อนแล้วเสนอต่ออนามัยจังหวัดปทุมธานี เพื่อสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2, 3 ได้รับใบอนุญาตประกอบการขายยาประเภท ง. และนายประเสริฐจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับรองข้อความที่ จำเลยที่ 2, 3 นำมาแจ้งต่อนายวิทยา สุวรรณรัตน์ ว่าเป็นความจริงด้วย ซึ่งความจริงนั้นจำเลยที่ 2, 3 ไม่เคยทำงานอยู่ในร้านขายยา ขายยาของนายประเสริฐจำเลยที่ 1 มาก่อน ตามคำแจ้งความของจำเลยไว้ต่อนายวิทยา สุวรรณรัตน์เลย ทั้งนี้เป็นเหตุให้นายวิทยา สุวรรณรัตน์ หลงเชื่อคำแจ้งความของจำเลยว่าเป็นความจริง จึงเสนอความเห็นต่ออนามัยจังหวัดปทุมธานีควรอนุญาตออกใบอนุญาตประกอบการขายยาให้จำเลยที่ 2, 3 ได้อนามัยจังหวัดปทุมธานีจึงสั่งให้ออกใบอนุญาตประเภท ง. ให้แก่จำเลยที่ 2, 3 ตามความเห็นของนายวิทยา สุวรรณรัตน์ ทั้งนี้อาจทำให้สาธารณชน และนายวิทยา สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยอนามัยจังหวัดปทุมธานีได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานีจังหวัดปทุมธานี
ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 127 มาตรา 118
จำเลยที่ 1, 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง เมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้บ้างแล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การขอรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118 ให้จำคุกจำเลยคนละ 2 เดือนปรับคนละ 200 บาท จำเลยที่ 2, 3 รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงเหลือจำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 1 เดือนปรับคนละ 100 บาท แต่จำเลยไม่เคยทำผิดมาแต่ก่อน นายประเสริฐ จำเลยที่ 1 ชรามากแล้วจึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 3 ไว้ภายในกำหนด 3 ปี ตามมาตรา 2, 3 (ที่ถูกมาตรา 3-4) แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2494 คงปรับสถานเดียว บังคับค่าปรับตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18
จำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำเลยที่ 1 ตามศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา ในข้อกฎหมายว่า นายวิทยา สุวรรณรัตน์ผู้ช่วยอนามัยจังหวัดไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่จะรับแจ้งความ ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของคณะกรมการอำเภอ
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนฟังคำแถลงการณ์ ประชุมปรึกษาคดีเรื่องนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย และศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมา ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า นายประเสริฐ จำเลยที่ 1 เป็นแพทย์แผนโบราณตั้งร้านขายยาอยู่ที่รังสิต ในตลาดประตูน้ำ จุฬาลงกรณ์ โดยได้รับอนุญาตขายยาประเภท ค. กับได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์สาขาทางเภสัชกรรมด้วย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2497 จำเลยที่ 1 นำจำเลยที่ 2, 3 ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน มายื่นคำร้องแบบ ข.ย. 2 ขออนุญาตขายยาประเภท ง. เป็นใบอนุญาตขายยาสำหรับผู้ขายยาเฉพาะเขตท้องที่นอกสถานที่ขายยา กล่าวคือจำเลยที่ 2, 3 ขอขายยาของจำเลยที่ 1 นอกร้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับรองว่า จำเลยที่ 2, 3 มีคุณสมบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติการขายยาและกฎกระทรวง โดยได้อยู่ในร้านขายยาของจำเลยที่ 1 มาครบ 3 ปีแล้วต่อนายวิทยา สุวรรณรัตน์ผู้ช่วยอนามัยจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องราวและทำความเห็นนายวิทยา สุวรรณรัตน์ สอบสวนคำขอและถ้อยคำของจำเลยที่ 3 ที่นำมายื่นแล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำความเห็นเสนอต่ออนามัยจังหวัดว่าควรออกใบอนุญาตขายยาประเภท ง. ให้แก่จำเลย 2, 3 ได้และในที่สุดจำเลยที่ 2, 3 ได้รับใบอนุญาตให้ขายยาประเภท ง. ได้
การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่
ปัญหาข้อแรกควรวินิจฉัยว่า นายวิทยา สุวรรณรัตน์ เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจรับแจ้งความหรือไม่เสียก่อน ตามกฎกระทรวงพ.ศ. 2494 ออกตามความในพระราชบัญญัติการขายยา พ.ศ. 2493ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2494
ข้อ 1. ความว่า “ผู้ใดประสงค์จะประกอบธุรกิจการขายยาจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ คือ
(1) ในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ยื่นคำขอใช้แบบข.ย.1 ท้ายกฎนี้ ฯลฯ
(2) ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอโดยใช้แบบ ข.ย.1 และปฏิบัติเช่นเดียวกับในข้อ 1(1) ส่งต่อคณะกรมการท้องที่ซึ่งตนประกอบธุรกิจการขายยา แล้วให้คณะกรมการอำเภอสอบสวนหลักฐานและคุณสมบัติเสนอไปยังแผนกสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ
(3) สำหรับการขอใบอนุญาตขายยาประเภท ง. นั้น นอกจากจะต้องปฏิบัติตามความใน (1) แล้ว ให้ยื่นหลักฐานจากบุคคลผู้รับใบอนุญาตขายยาประเภท ก. ข. หรือ ค. ว่าตนเป็นผู้ขายยาในธุรกิจของบุคคลนั้นไปด้วย ถ้าบุคคลซึ่งตนเป็นเจ้าของธุรกิจการขายยา มีสถานที่ขายยาตั้งอยู่ในเขตจังหวัดใดให้ยื่นคำขอโดยใช้แบบ ข.ย. 2 ท้ายกฎนี้ต่อแผนกสาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดนั้นแล้วให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัดที่จะตรวจสอบ เสนอความเห็นต่อไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตตามความในข้อ 3
ข้อ 2. ฯลฯ
(4) ในกรณีแห่งบุคคลซึ่งพึงรับใบอนุญาตประเภท ง. ต้องมีคุณสมบัติฯต้องเป็นผู้มีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ และต้องได้เคยประกอบการขายยาอยู่ในสถานที่ขายยาที่ได้รับใบอนุญาตขายยามาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี
ตามกฎกระทรวงเหล่านี้ เจ้าพนักงานที่เกี่ยวแก่การออกใบอนุญาตขายยาได้แก่สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งบัดนี้ไม่มีแล้ว โดยมีอนามัยจังหวัดมาแทนตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมอนามัยในกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2496 นายวิทยา สุวรรณรัตน์ เป็นผู้ช่วยอนามัยจังหวัดเบิกความว่า เป็นผู้ทำการแทนอนามัยจังหวัดมีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายยาและพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลป์ ฉะนั้นถือได้ว่า นายวิทยา สุวรรณรัตน์ เป็นเจ้าพนักงานเกี่ยวแก่การออกใบอนุญาตขายยาตามกฎกระทรวงนี้
ใบอนุญาตขายยามี 4 ประเภท ก.ข.ค.ง. จำเลยที่ 2, 3 ยื่นขอรับใบอนุญาตประเภท ง. (คือประเภทที่รับยาจากร้านจำเลยที่ 1 ไปจำหน่าย) จึงต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าวมาตามข้อที่ 1(3)และข้อ 2(4)กล่าวคือ จำเลยที่ 2, 3 จะต้องยื่นคำขอและหลักฐานจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้รับอนุญาตให้ขายยาด้วยเมื่อยื่นแล้ว นายวิทยาสุวรรณรัตน์ มีหน้าที่ที่จะสอบสวนจำเลยทั้ง 3 ตามกฎกระทรวงดังกล่าวมาว่า จำเลยที่ 2, 3 ได้เคยประกอบการขายยาอยู่ในสถานที่ที่ขายยาที่ได้รับอนุญาตขายยามาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี กล่าวคือ จำเลยที่ 2, 3 ได้ประกอบการขายยาในร้าน จำเลยที่ 1 มาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี
เมื่อข้อความที่จำเลยที่ 1 แจ้งแก่ นายวิทยา สุวรรณรัตน์ว่าจำเลยที่ 2, 3 ได้ประกอบการขายยามาในร้าน จำเลยที่ 1 เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปีเป็นเท็จ เพราะเป็นการขาดคุณสมบัติตามกฎกระทรวงข้อ 2(4) และจำเลยที่ 1 รับรองว่าเป็นความจริง เมื่อนายวิทยา สุวรรณรัตน์ เป็นเจ้าพนักงานเกี่ยวแก่พระราชบัญญัติควบคุมการขายยาดังกล่าวมา จำเลยที่ 1 จึงมีผิดฐานแจ้งความเท็จได้เพราะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่สอบสวนจำเลยที่ 1 โดยตรง
ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขึ้นมาว่า นายวิทยา สุวรรณรัตน์ ไม่มีหน้าที่รับแจ้งความเหมือนดังกรมการอำเภอนั้น หาเป็นการถูกต้องไม่กรมการอำเภอมีหน้าที่สอบสวนตามกฎกระทรวงข้อ 1(2) เกี่ยวแก่การขออนุญาตขายยาประเภท ก.ข. และ ค. ไม่เกี่ยวแก่ประเภท ง.กฎกระทรวงข้อ 1(3) และข้อ 2(4) บัญญัติเกี่ยวแก่การอนุญาตขายยาประเภท (ง) โดยเฉพาะ กล่าวคือการขออนุญาตขายยาในประเภท ง.นี้ให้ยื่นตามแบบ ข.ย. 2 ท้ายกฎต่อแผนกสาธารณสุขจังหวัด คือต่ออนามัยจังหวัดในปัจจุบัน แล้วให้อนามัยจังหวัดตรวจสอบเสนอความเห็นต่อไป เมื่ออนามัยจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานเช่นนี้ จำเลยที่ 1จึงมีผิด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นให้ยก
พิพากษายืน