คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับผู้มีชื่อร่วมกันเช่าห้องพิพาทจากเจ้าของเดิมเพื่อทำการค้า ต่อมาจำเลยที่ 2 รับโอนกิจการของผู้มีชื่อ เมื่อในสัญญาว่าผู้มีชื่อและจำเลยที่ 1 เช่าห้องพิพาทเพื่อทำการค้า จำเลยที่ 2 ผู้เข้าแทนที่ผู้มีชื่อจึงถือว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 เช่าตึกพิพาทเพื่อการค้าขายด้วย ซึ่งจะฟังความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯมิได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของตึกและที่ดินพิพาทได้รับซื้อจากเจ้าของเดิมขอให้ศาลขับไล่จำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี และค่าเสียหายเทียบค่าเช่าเดือนละ 60 บาท จนกว่าจำเลยจะส่งมอบห้อง

จำเลยให้การต่อสู้ว่าเช่าอยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติค่าเช่าฯ และต่อสู้อย่างอื่นอีกหลายประการ

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ จึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากห้องพิพาทและให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 60 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากห้องพิพาท

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่ศาลชั้นต้นสั่งให้รับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย

จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลแพ่งสั่งให้รับฎีกาและกำหนดให้ส่งสำเนาให้โจทก์ใน 10 วัน แต่จำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอีก 3 วัน ศาลฎีกาไม่อนุญาตเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ จึงให้จำหน่ายคดีฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ว่าอาชีพตัดผมไม่ใช่การค้า ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการค้าเพราะเหตุว่าจำเลยได้ใช้ที่พิพาทเป็นร้านรับจ้างดัดผม จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร้านเช้ามาเย็นกลับบ้าน เป็นการตั้งบ้านเพื่อรับจ้างดัดผมผิดกับตัวผู้รับจ้างดัดผมเอง ซึ่งเป็นผู้ขายแรงงาน

ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลฎีกาควรแยกวินิจฉัยการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่นั้น เบื้องต้นศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า น.ส.วารุณ กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันเช่าห้องพิพาทจากเจ้าของเดิมเพื่อทำการค้าซึ่งหมายความว่าสองคนเปรียบเหมือนคนคนเดียวกันทำ สัญญาเช่าจากเจ้าของเดิมจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนกิจการของ น.ส.วารุณ จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้แทนที่ น.ส.วารุณ ผู้ซึ่งต้องออกไปจากการเช่า น.ส.วารุณมีสิทธิ์อย่างไร จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิเช่นนั้น สิทธิของจำเลยที่ 1 คงที่เมื่อในสัญญาว่า น.ส.วารุณและจำเลยที่ 1 เช่าห้องพิพาทเพื่อทำการค้า ด้วยเหตุผลที่จำเลยที่ 2 แทนที่ น.ส.วารุณ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงคงมีสัญญาเช่ากับโจทก์เหมือนดัง น.ส.วารุณและจำเลยที่ 1 เช่ากับโจทก์ และการเช่านี้ก็เช่าเพื่อการค้า ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าฯฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นให้ยก พิพากษายืน

Share