คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้ความว่ารถยนต์พิพาทคดีนี้ศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นของโจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ฉะนั้นโจทก์จึงยกขึ้นยันบุคคลภายนอกรวมทั้งผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2)เว้นแต่ผู้ร้องจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าหากผู้ร้องจะอ้างว่าตนได้ครอบครองรถยนต์อยู่จึงควรได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1303 ผู้ร้องก็จะต้องพิสูจน์ว่าตนได้การครอบครองนั้นมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตจึงจะมีสิทธิในรถยนต์พิพาทดีกว่าโจทก์

ย่อยาว

คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้ซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.19028 – ก.ท.19029 และก.ท.19014 ไว้จากผู้ซื้อฝาก 3 รายที่ได้รับซื้อฝากรถยนต์ 3 คันนี้จากจำเลยและได้โอนทะเบียนกันที่กองทะเบียนกรมตำรวจแล้วโจทก์แจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์ 3 คันนี้ให้โจทก์ จำเลยเพิกเฉยจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับ และได้ขอให้ศาลยึดรถยนต์รายนี้ไว้ก่อนมีคำพิพากษาด้วย คดีนั้นจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ทั้ง 3 คัน ให้โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ารถยนต์ 3 คันนี้จำเลยโอนหักใช้หนี้ที่ค้างผู้ร้องโดยเปิดเผยและสุจริตและผู้ร้องได้ครอบครองมาโดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ขอให้ศาลถอนการยึด

โจทก์ให้การว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของโจทก์อยู่ในความครอบครองของจำเลย มิใช่ของผู้อื่น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์และผู้ร้องเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกันโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 ฉะนั้นผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ได้การครอบครองมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนย่อมมีสิทธิในรถยนต์พิพาทดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ถอนการยึดรถยนต์พิพาททั้ง 3 คันคืนให้ผู้ร้องไป

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 โจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทมีสิทธิติดตามและขัดขวางมิให้ผู้ร้องเข้ามาเกี่ยวข้องในรถยนต์พิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จึงพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้วข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวแล้วข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่ารถยนต์รายพิพาทในคดีนี้ ศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นเข้าของกรรมสิทธิ์ฉะนั้นโจทก์จึงยกขึ้นยันบุคคลภายนอกรวมทั้งผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) เว้นแต่ผู้ร้องจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า หากผู้ร้องจะอ้างว่าตนได้ครอบครองรถยนต์อยู่ จึงควรได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 ผู้ร้องก็จะต้องพิสูจน์ว่าตนได้การครอบครองนั้นมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องมีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลย ที่ผู้ร้องว่าจำเลยกลับเป็นลูกหนี้ตนนั้นก็มีแต่คำร้อง ที่ผู้ร้องว่าจำเลยเอารถยนต์ตีใช้หนี้ให้ตนนั้นผู้ร้องก็ว่าทำกันด้วยปากเปล่า รถยนต์เป็นสิ่งที่มีทะเบียนแสดงให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ที่จำเลยโอนให้ผู้ร้องก็ไม่มีการโอนทะเบียนกันทั้งไม่ได้ดูทะเบียนเลย ถ้าผู้ร้องได้ดูทะเบียนก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นรถยนต์นั้นไม่ใช่ของจำเลยแล้วโดยเหตุผลเหล่านี้ศาลฎีกาจึงไม่เชื่อว่าผู้ร้องได้การครอบครองรถยนต์รายพิพาทไว้ด้วยความสุจริต จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิในรถยนต์รายพิพาทดีกว่าโจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ศาลฎีกาจึงเห็นชอบด้วย จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาของผู้ร้อง

Share