แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรนั้นจะมีได้แต่ในกรณีที่แจ้งไว้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1529
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องใจความว่า ‘ข้าพเจ้ากับจำเลยได้เสียเป็นสามีภรรยากันเอง ฯลฯ ‘ดังนี้ไม่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา1529(4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใช้ถ้อยคำดังนี้ เมื่อประมาณ 3 ปีมานี้ ข้าพเจ้ากับจำเลยได้เสียเป็นสามีภรรยากันเอง มิได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาเกิดบุตรหญิงด้วยกันคนหนึ่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494 ยังไม่ได้ตั้งชื่อ และก่อนคลอดบุตรข้าพเจ้าป่วยไปรักษาตัวอยู่ที่อื่น เมื่อข้าพเจ้าทุเลาแล้วจะกลับไปอยู่กับจำเลยตามเดิมแต่ปรากฏว่า ภรรยาเก่าของจำเลยมาอยู่ จำเลยจึงเกลี่ยกล่อมแนะนำให้ข้าพเจ้าไปอยู่ที่อื่นพลางก่อน ข้าพเจ้าจึงไปอาศัยผู้มีชื่ออยู่ ในเบื้องต้นจำเลยก็ติดตามส่งเสีย ครั้นภายหลังจำเลยกลับทอดทิ้งไม่ส่งเสียอุปการะแต่ประการใด จนกระทั่งบัดนี้พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการหลอกลวงข้าพเจ้าและทอดทิ้งบุตรให้ได้รับความเดือดร้อน ขอให้จำเลยรับรองบุตรและให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู
จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่บิดาเด็ก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเด็กที่เกิดเป็นบุตรของจำเลย ส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูยังไม่ถึงเวลาที่โจทก์จะฟ้องเอาได้จากจำเลยให้ยกคำขอข้อหลัง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรจะมีได้แต่ในกรณีที่แจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 เท่านั้นฟ้องเรื่องนี้โจทก์บรรยายมิได้ต้องด้วยมาตรา 1529 ส่วนที่ว่าจำเลยล่อลวงนั้นก็มิได้มีหลักฐานอะไรที่เป็นหนังสือจึงเป็นอันไม่ได้ความว่าจำเลยล่อลวง
ฟ้องข้ออื่นไม่เป็นไปตามมาตรา 1529 ต้องยกตามมาตรา 172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง