คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทำสัญญาจะโอนสิทธิการเช่าโกดังกัน โดยเรียกเอาค่าทดแทนเป็นเงินจำนวนหนึ่งเมื่อไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าให้เขาได้ เพราะเจ้าของโกดังไม่ยอมให้โอนและบอกเลิกการเช่าโกดังเสียด้วย ดังนี้ผู้รับโอนมีสิทธิฟ้องเรียกคืนเงินค่าทดแทน และเรียกค่าเสียหายจากผู้โอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมกราคม 2496 โจทก์ทราบว่า จำเลยมีความประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าโกดังสินค้าหมายเลข 2-3 ตำบลคลองสานอำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี ซึ่งจำเลยเช่าไว้จากบริษัทเดินเรือไทยจำกัด โดยเรียกร้องเงินทดแทนการโอนเช่า 30,000 บาท โจทก์จึงติดต่อขอรับโอนสิทธิการเช่าโกดังรายนี้ เพื่อเก็บข้าวสารและว่าของโจทก์ โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จำเลยเป็นฝ่ายติดต่อโอนสิทธิการเช่ากับบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ให้โจทก์ ได้เข้าเป็นผู้เช่าโดยตรงจากบริษัทเดินเรือไทย จำกัด เมื่อจำเลยโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์แล้ว โจทก์ต้องให้เงินทดแทนแก่จำเลย 30,000 บาทครั้งวันที่ 5 มกราคม2496 จำเลยขอรับเงินทดแทนการโอนสิทธิการเช่าล่วงหน้าจากโจทก์เต็มจำนวน 30,000 บาทและยอมให้โจทก์เข้าครอบครองใช้โกดังรายนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2496 โดยจำเลยทำหนังสือรับรองมอบการครอบครองใช้โจทก์ไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาท้ายฟ้อง ต่อมาเดือนมิถุนายน 2496 โจทก์ทราบว่า บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ได้บอกเลิกสัญญาเช่าโกดังรายนี้โดยกล่าวว่าจำเลยผิดสัญญาให้เช่าช่วง กับให้โจทก์ขนย้ายสินค้าออกไปจากโกดังรายนี้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ไม่ได้ จึงขอให้จำเลยคืนเงิน 30,000 บาท กับค่าเสียหาย 23,235 บาท 82 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยได้เช่าโกดังจากบริษัทเดินเรือไทย จำกัดมีกำหนด 6 เดือนค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท เมื่อพ้น 6 เดือนแล้วก็ยังจะเช่าต่อไปจนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกล่วงหน้า 1 เดือน สัญญาจึงจะเลิก จำเลยได้เช่ามา 1 ปีแล้ว จึงได้มอบสิทธิการเช่าให้โจทก์เป็นผู้เช่าโดยโจทก์จะต้องเสียค่าเช่า และค่าใช้จ่ายเองตลอดเวลาที่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ยังคงให้เช่าอยู่ จำเลยปฏิเสธว่า จำเลยไม่ได้เรียกเงินทดแทนโอนสิทธิการเช่า30,000 บาท จากโจทก์ จำเลยไม่ได้ตกลงหรือสัญญาว่า จะจัดการให้โจทก์เป็นผู้เช่าโดยตรงจากบริษัทเดินเรือไทย จำกัดมีกำหนด 3 ปี และไม่เคยตกลงว่า ในระหว่างที่โจทก์ครอบครองโกดังให้โจทก์ ออกค่าเช่าแทนจำเลยไปก่อนจนกว่าจะจัดการโอนสิทธิการเช่าให้ ความจริงนั้นโจทก์ต้องการใช้โกดังรายนี้ จึงขอร้องจากจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้ใช้มาแต่แรกเช่า จำเลยยอมให้โจทก์ใช้โกดังรายนี้ได้เมื่อโจทก์ยอมเสียค่าเช่าที่จำเลยต้องเสียจริงมาแต่ต้นเดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 10 เดือนเศษ คิดเป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่อไปโจทก์เสียเอง โจทก์ยินยอม และได้ชำระเงินให้จำเลย ๆ จึงทำหนังสือเป็นหลักฐานตามที่ตกลงกัน เหตุที่บริษัทเดินเรือไทยจะเลิกสัญญาเช่าก็เพราะโจทก์ไปวิ่งเต้น ก่อความรำคาญให้แก่ผู้ให้เช่าประกอบกับผู้ให้เช่าต้องการรื้อโกดังเพื่อสร้างใหม่และสัญญาเช่าก็หมดอายุนานแล้ว ส่วนค่าเสียหาย แม้โจทก์เสียไปจริงจำเลยก็ไม่ต้องรับผิด

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วฟังว่า โจทก์จ่ายเงิน 30,000 บาท ให้จำเลยเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้โกดัง จนกว่าจำเลยจะไม่ได้เช่าโกดังรายนี้ จำเลยไม่ได้ตกลงจะโอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ การที่โจทก์มิได้ใช้โกดังรายนี้ ก็เนื่องจากว่าผู้ให้เช่าบอกเลิกการเช่าอันมิใช่ความผิดของจำเลย โจทก์จึงฟ้องเรียกเงิน 30,000 บาทและค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม และค่าทนาย 1,000 บาทแทนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน ให้โจทก์เสียค่าทนายชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 200 บาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาสำนวนนี้แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โกดังรายพิพาทเป็นของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด จำเลยเป็นผู้เช่าตามหนังสือสัญญาเช่าลงวันที่ 21 มกราคม 2495 มีสารสำคัญว่า “(1) เช่ากัน 6 เดือนนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2495 ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท (2) ชำระค่าเช่าล่วงหน้าเป็นงวด ๆ ละ 3 เดือน งวดแรกชำระล่วงหน้าในวันทำสัญญาเช่า ฯลฯ (6) คู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน ฯลฯ” มีข้อความต่อท้ายสัญญาลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกันว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ถือวันทำสัญญาเช่าถัดไปอีก 1 เดือน คือให้เริ่มนับสัญญาเช่า ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2495 เป็นต้นไป สัญญาเช่าดังกล่าวนี้ทำไว้เป็น 2 ฉบับ ข้อความตรงกันผู้ให้เช่า(บริษัทเดินเรือไทย จำกัด) และผู้เช่า (จำเลย) ยึดไว้ฝ่ายละ 1 ฉบับ เฉพาะฉบับของจำเลยฉบับเดียวมีข้อความเพิ่มเติมเป็นตัวพิมพ์ดีดอยู่ข้างท้าย “โรงพักสินค้าหมายเลข 2 และเลข 3 ตามสัญญานี้ข้าพเจ้าขอมอบสิทธิให้แก่นายสนิท เมฆะกุลเป็นผู้แทนข้าพเจ้าตลอดไปและเมื่อสิ้นงวดนี้ให้เปลี่ยนเป็นชื่อของนายสนิท เมฆะกุลเป็นผู้เช่าต่อไปพิพัฒน์วานิชวงศ์ ผู้มอบ โชติ อัยยสานนท์ พยานรับรู้” และมีใบรับเลขที่ 9184 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2495 ของบริษัทเดินเรือไทยจำกัดว่าได้รับค่าเช่าโรงพักสินค้าเลข 2 และ 3 แต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2495 ถึง 21 สิงหาคม2495 เงิน 9,000 บาท ต่อมาบริษัทเดินเรือไทย จำกัดได้มีหนังสือที่ 2054/2495 ลงวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกันบอกจำเลยว่าสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลงในวันที่ 21สิงหาคม 2495 แล้ว ถามจำเลยว่าประสงค์จะเช่าต่อไปหรือไม่ถ้าจะเช่าก็ให้นำค่าเช่าล่วงหน้างวด 3 เดือนไปชำระ จำเลยมีหนังสือตอบ ลงวันที่ 25 เดือนเดียวกันว่า ยังคงจะเช่าต่อไป และจะนำเงินล่วงหน้ามาชำระให้เสร็จสิ้นในวันที่ 29 เดือนนี้มีใบรับเงินเลขที่ 9681 ลงวันที่ 5 มกราคม 2496 ของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ว่า ได้รับชำระค่าเช่าโรงพักสินค้า ระยะ 22 สิงหาคม 2495 ถึงที่ 5 มกราคม 2496 เงิน 13,500 บาท วันชำระค่าเช่าตามใบรับฉบับนี้ต่อกับวันชำระค่าเช่าตามใบรับฉบับที่ 9184 ดังกล่าวข้างต้น แต่กำหนดเวลาหรืองวดชำระค่าเช่าตามใบรับฉบับหลังนี้เป็น 4 เดือน ครึ่งไม่ใช่ งวด 3 เดือน ตามที่ตกลงกัน ฉะนั้นจึงมีใบรับเงินเลขที่ 9682 ลงวันที่ 6 มกราคม 2496 ของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ว่า ได้รับค่าเช่าโรงพักสินค้าระยะ 6 มกราคม 2496ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นเงิน 4,500 บาท จากจำเลยแล้วเงิน 4,500 บาทรายนี้ จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดเลขที่ ก.327428 ลงวันที่ 7, 1, 53 จ่ายให้แก่บริษัทเดินเรือไทยจำกัด ซึ่งบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ได้นำเข้าบัญชีของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ในธนาคารไทยพาณิชย์จำกัดเสร็จไปแล้ว เงิน 4,500 บาทรายนี้ ภายหลังโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยเสร็จแล้วและโจทก์ได้ออกเช็คธนาคารชาร์เตอร์แบงค์ ฯลฯ เลขที่ 012617 ลงวันที่ 6, 1, 53 จ่ายเงินให้แก่จำเลย 30,000 บาท ซึ่งจำเลยได้นำส่งเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด เสร็จไปในวันนั้น จำเลยได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 6 มกราคม 2496 มอบให้แก่โจทก์ 1 ฉบับ ความว่า”หนังสือฉบับนี้ขอรับรองว่า ตามที่บริษัทพัธนา จำกัดได้ทำสัญญาเช่าโกดังหมายเลข 2 และเลข 3 ไว้กับบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ตามสัญญา ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2495 นั้นบริษัทพัธนา จำกัดขอมอบการใช้โกดังและการติดต่อในกิจการโกดังต่าง ๆ ให้แก่บริษัทท่านทั้งสิ้น ในระยะเวลาที่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ให้เช่าโกดังรายนี้ ส่วนค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ท่านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น” ตั้งแต่จำเลยทำสัญญาเช่าโกดังรายนี้มาจนถึงวันที่ 6 มกราคม 2496 นี้ จำเลยไม่เคยใช้โกดังรายนี้เลย เนื่องจากหนังสือของจำเลยฉบับนี้เองโจทก์จึงได้จัดการปูพื้นกระดานขนข้าวสารเข้าไว้ในโกดังรายนี้ การขนข้าวสารขึ้นและลงโดยทางน้ำนั้น ทางการกำหนดว่า ท่าที่ขนข้าวสารขึ้นลงต้องได้รับอนุญาตหรือรับอนุมัติจากกรมศุลกากร ท่าเรือนี้เดิมบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ได้รับอนุญาตจากกรมศุลกากร เป็นท่าอนุมัติ แต่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ขาดต่ออายุมานานแล้ว เป็นการขัดข้องแก่โจทก์ที่จะใช้เป็นท่าอนุมัติ โจทก์ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2496 ถึงจำเลยขอให้ติดต่อกับบริษัทเดินเรือไทย จำกัด จัดดำเนินการต่ออายุเป็นท่าอนุมัติเพื่อโจทก์จะได้ส่งข้าวได้จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2496 ถึงบริษัทเดินเรือไทย จำกัด อ้างว่า จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2496ขอให้บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ต่ออายุใบอนุญาตท่าเรืออนุมัตินั้น เนื่องจากบริษัทจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์ กิจการแผนกค้าข้าวนี้บริษัทจำเลยมอบให้บริษัทโจทก์ดำเนินการ จึงขอให้บริษัทเดินเรือไทยจำกัด ทราบว่ากิจการใดที่บริษัทโจทก์ดำเนินก็ให้ถือเหมือนดังบริษัทจำเลยได้กระทำไปและเพื่อความสะดวกในการดำเนินงานต่อไป ขอบริษัทเดินเรือไทย จำกัดได้โปรดแก้สัญญาเช่าเดิมจากบริษัทจำเลยเป็นบริษัทโจทก์ (โดยนายสนิท เมฆะกุลเป็นผู้แทน)เป็นผู้เช่าต่อไป ทั้งนี้หวังในความกรุณาว่าบริษัทเดินเรือไทย จำกัดคงจะจัดการให้เป็นที่เรียบร้อย บริษัทเดินเรือไทย จำกัด มีหนังสือถึงจำเลย ลงวันที่ 29 เดือนเดียวกัน ขอดูหลักฐานของบริษัทโจทก์ เช่น หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัทพร้อมทั้งรายนามคณะกรรมการด้วย จำเลยมีหนังสือ ลงวันที่ 2 พฤษภาคมปีเดียวกันว่า ส่งหนังสือบริคณห์สนธิพร้อมทั้งรายนามคณะกรรมการมาให้แก่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทเดินเรือไทยจำกัด ลงหมายเหตุไว้ข้างท้ายหนังสือฉบับนี้ว่า “ขอประทานเสนอเห็นว่า สัญญาเช่าโอนกันไม่ได้ ฯลฯ” ต่อมาบริษัทเดินเรือไทย จำกัดต้องการใช้ โกดังรายพิพาทเอง จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยโจทก์ต้องเสียค่าขนย้าย ข้าวสารออกจากโกดังรายพิพาทรวมทั้งค่าปูพื้นกระดานตอนเข้าใช้โกดังด้วย เป็นเงิน 23,235 บาท 82 สตางค์ โจทก์มีหนังสือ ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2496 ขอเงิน30,000 บาท ดังกล่าวข้างต้นคืนจากจำเลย ๆ ไม่ยอมคืนให้โจทก์จึงฟ้องจำเลย

โจทก์นำสืบว่า โจทก์มอบเช็ค 30,000 บาท ให้จำเลย เมื่อวันที่ 5 มกราคม2496 โดยจำเลยได้ตกลงจะโอนสิทธิการเช่าโกดังรายพิพาทให้แก่โจทก์มีกำหนด3 ปี และได้พากันไปยังบริษัทเดินเรือไทยจำกัด ในวันนั้น เพื่อทำสัญญาโอนการเช่ากัน แต่นายสุทัศน์กรรมการบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ไปสิงคโปร์เสีย ทำสัญญาโอนการเช่าไม่ได้ จำเลยได้สลักหลังสัญญาเช่าฉบับของจำเลยมอบให้โจทก์ไว้นายโชติผู้ควบคุมพัสดุของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ควบคุมโกดังรายพิพาทเซ็นชื่อรับรู้ รุ่งขึ้นวันที่ 6 จำเลยจึงได้ทำหนังสือมอบโกดังรายพิพาทให้แก่โจทก์ เนื่องจากบริษัทเดินเรือไทย จำกัดขาดต่ออายุใบอนุญาตท่าเรืออนุมัติโจทก์จึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 11 มีนาคม 2496 ถึงจำเลยให้จัดการเรื่องท่าเรืออนุมัติ และเตือนให้จำเลยโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ จำเลยได้มีหนังสือ ลงวันที่28 เมษายน 2496 ดังกล่าวข้างต้น ถึงบริษัทเดินเรือไทย จำกัดแต่ก็โอนการเช่าไม่ได้ จนบริษัทเดินเรือไทย จำกัด เลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยกับบริษัทเคี่ยนหงวนได้ตกลงเช่าโกดังรายพิพาทจากบริษัทเดินเรือไทย จำกัด เสียค่าเช่าคนละครึ่งแต่ไม่ได้ใช้โกดังรายนี้ โจทก์มาขอใช้โกดังรายนี้โดยยอมให้เงินแก่จำเลย 30,000 บาท เท่ากับค่าเช่า 10 เดือนที่จำเลยเสียไปบริษัทเคี่ยนหงวนไม่ขัดข้องที่โจทก์จะใช้โกดังรายนี้ จำเลยจึงได้รับเช็ค 30,000 บาทของโจทก์ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2496 และนำเข้าบัญชีของจำเลยในวันนั้น และทำหนังสือมอบให้โจทก์ใช้โกดังลงวันเดียวกันจำเลยไม่ได้ตกลงโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ หนังสือของจำเลยถึงบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ลงวันที่ 28 เมษายน 2496 นั้นเป็นเรื่องขอร้องให้บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ต่ออายุท่าอนุมัติหาใช่เรื่องโอนสิทธิการเช่าไม่

ศาลฎีกา ได้พิเคราะห์หลักฐานคำพยานทั้ง 2 ฝ่ายตลอดแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามหนังสือมอบโกดัง ลงวันที่ 6 มกราคม 2496 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว น่าเชื่อว่า ความจริงเป็นดังจำเลยนำสืบ แต่ถ้าพิจารณาหลักฐานคำพยานทั้งหมดประกอบกันแล้ว ก็เชื่อไม่ได้ เพราะสัญญาเช่ารายนี้ได้ทำกันไว้เพียง 6 เดือนชำระค่าเช่าล่วงหน้าเป็น 2 งวด ๆ ละ 3 เดือน 9,000 บาท ค่าเช่าล่วงหน้างวดที่ 2จำเลยชำระให้แก่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2495 ยังเหลือเวลาอีกเพียงเดือนเดียวก็จะสิ้นงวดนั้น วันที่ 20 กันยายน 2495 บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ถามเรื่องต่อสัญญาและค่าเช่าล่วงหน้า วันที่ 25 เดือนนั้น จำเลยตอบบริษัทเดินเรือไทยจำกัด ว่ายังคงจะเช่าต่อไป และจะชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน แต่จำเลยก็หาได้นำเงินค่าเช่าล่วงหน้าไปชำระไม่ กลายเป็นจำเลยติดค้างค่าเช่า จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2496 จำเลยจึงนำค่าเช่าที่ติดค้างทั้งหมดไปชำระให้แก่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ดังปรากฏระยะเวลาอยู่ในใบรับฉบับนั้นรวมเป็นค่าเช่า 4 เดือนครึ่ง ยังอีกเดือนครึ่งจึงจะเต็มงวด และเพราะเหตุนี้เองรุ่งขึ้นวันที่ 6 จำเลยจึงต้องนำค่าเช่าอีกเดือนครึ่ง คือ 4,500 บาท ไปชำระให้แก่บริษัทเดินเรือไทย จำกัด เพื่อให้เป็นค่าเช่าเต็มงวดและเช็คเงิน 4,500 บาทของจำเลยก็ลงวันที่ 7 มกราคม 2496 เป็นเช็คจ่ายเงินล่วงหน้าเช่นเดียวกับเช็ค 30,000 บาท ดังโจทก์นำสืบถ้าจำเลยเป็นแต่เพียงยินยอมมอบโกดังรายพิพาทให้โจทก์ใช้ จำเลยก็จำเป็นที่จะต้องสลักหลังสัญญาเช่าฉบับของจำเลยว่า เมื่อสิ้นงวดนี้ซึ่งหมายถึงงวดวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2496ให้เปลี่ยนเป็นชื่อของนายสนิท เมฆะกุล เป็นผู้เช่าต่อไป เพื่อประโยชน์อะไร หนังสือของจำเลยลงวันที่ 28 เมษายน 2496 ถึงบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ก็เป็นเรื่องขอโอนการเช่าชัด ๆ โดยหลอกบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ว่าบริษัทจำเลยมีหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์ บริษัทเดินเรือไทย จำกัด พาซื่อขอหลักฐานได้หลักฐานแล้ว เจ้าหน้าที่ของบริษัทเดินเรือไทย จำกัดจึงได้บันทึกว่า สัญญาเช่าโอนกันไม่ได้ ที่จำเลยแก้ว่า เป็นเรื่องขอให้บริษัทเดินเรือไทย จำกัด ต่ออายุท่าเรืออนุมัตินั้น หาใช่หนังสือฉบับนี้ไม่ แต่เป็นหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2496 ซึ่งกล่าวความไว้ตอนต้นของหนังสือฉบับนี้ต่างหาก เรื่องนี้โจทก์มีนายโชติผู้ควบคุมโกดังรายพิพาท และหลวงไพรัชธนกิจผู้จัดการของบริษัทเดินเรือไทย จำกัด ซึ่งเป็นคนภายนอกเบิกความชัดว่า จำเลยจะขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ แต่นายสุทัศน์ กรรมการจัดการของบริษัทเดินเรือไทย จำกัดไม่อยู่ จึงโอนกันไม่ได้ พยานหลักฐานทั้งหลายสมดังโจทก์นำสืบยิ่งกว่า ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนเงิน 30,000 บาทและใช้ค่าเสียหาย 23,235 บาท 82 สตางค์ รวม 53,235 บาท 82 สตางค์ แก่โจทก์ ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงิน 53,235 บาท 82 สตางค์ แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยเสียค่าทนาย3 ศาลเงิน 1,500 บาท กับค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นแทนโจทก์

Share