คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่ดินจากผู้ที่ได้ครอบครองเป็นปรปักษ์ต่อโจทก์มากว่า 10 ปี จำเลยครอบครองมา 2 ปี จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินบ้านตามโฉนดที่ 655 ตำบลช้างม่อยอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 89 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มีเขตติดต่อตามสำเนาเอกสารหมาย ก.ท้ายฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินติดต่อที่ดินของโจทก์ทางด้านเหนือเมื่อเดือนตุลาคม 2496 จำเลยที่ 1-2 จะปลูกตึกจดแนวรั้วด้านเหนือของที่ดินโจทก์โดยถือเอาหลักเขต (หมุด) ที่มีอยู่เป็นแนวตึก โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่าจะปลูกตึกรุกล้ำที่ดินของโจทก์ไม่ได้ เพราะตามหลักเขต (หมุด) ไม่แน่นอน อาจเคลื่อนย้ายได้ โจทก์จะถือตามหน้าโฉนดเป็นใหญ่ ครั้นกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2497 จำเลยได้ก่อสร้างทำทางเดินติดกับกำแพงตึกของจำเลยด้านใต้ รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านเหนือกว้าง 70 เซ็นติเมตร ยาว 15.2 เมตร เป็นเนื้อที่ประมาณ 10.64 ตารางเมตร ตามแผนที่หมายเส้นสีแดงท้ายฟ้อง โจทก์ร้องต่ออำเภอขอให้จำเลยคืนที่ดินนั้นให้โจทก์ จำเลยไม่ยอม จึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนทางเดินเท้าออกเสีย และคืนที่ดินพิพาทซึ่งมีราคา 40,000 บาท ให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถคืนได้ให้ชดใช้ราคา 40,000 บาท

จำเลยให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2496 จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนายเอี่ยมตามโฉนดที่ 279 ซึ่งนายเอี่ยมซื้อและครอบครองมา 10 ปีเศษแล้ว อยู่ติดต่อรั้วด้านเหนือของโจทก์มีความยาวจากรั้วของโจทก์ และหลักหมุดไปทางทิศเหนือตามถนนวิชยานนท์ 9 เมตรลึกตามแนวรั้ว 13 เมตรครึ่ง ในการซื้อขายนี้โจทก์ได้ทราบดีมิได้คัดค้าน เมื่อราวเดือนตุลาคม 2496 จำเลยยื่นคำร้องต่อเทศบาลขอปลูกตึกลงในที่ดินดังกล่าว โจทก์เองยังได้ยินยอมให้จำเลยปลูกตึกชิดกับที่ดินของโจทก์ จำเลยมิได้ทำทางเดินรุกล้ำเข้าไป จำเลยปลูกตึกแล้วยังไว้ทางเดินจากรั้วของโจทก์ถึงตึกของจำเลยเกือบหนึ่งเมตรตามแผนที่สังเขปท้ายคำให้การ จำเลยซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเป็นที่ดินซึ่งนายเอี่ยมผู้ขายได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี หาได้บุกรุกที่ดินของโจทก์ไม่

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ระหว่างที่ดินของโจทก์จำเลยได้มีรั้วกั้นอยู่ตรงกับหลักเขต (หมุด) มาช้านานกว่า 20 ปีเศษแล้วไม่ปรากฏว่าหลักเขตนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายอย่างใด ต้องถือว่าต่างได้ครอบครองที่ดินมาตามแนวรั้วและหลักเขตนั้นแม้ข้อเท็จจริงก็ไม่แน่ว่าที่พิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือไม่ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความว่าที่ดินของโจทก์จำเลยอยู่ติดต่อกันโดยมีรั้วไม้จริงทำไว้บนฐานก่ออิฐกั้นเป็นเขตมา 10 ปีเศษแล้วรั้วนี้ทำตรงกับหลักหิน (หมุด) ตามคำโจทก์เองว่าเมื่อซื้อที่ดินจากนายยึดกวงราว 20 ปีเศษมาแล้ว ที่ดินของโจทก์ยังไม่มีโฉนดซื้อแล้วก็ขอรับโฉนดได้มา ตั้งแต่ซื้อก็มีสลักหินอยู่แล้ว ไม่มีใครมาขยับเขยื้อนหลักหินนี้เลย ส่วนที่ดินด้านที่เป็นของจำเลยเดิมเป็นของนายเขียน ๆ ขายให้นายยู่เอี่ยม หรือเอี่ยมกับพวกเมื่อ 12 ปีมาแล้ว นายยู่เอี่ยม หรือเอี่ยม ได้ครอบครองที่ดินด้านเหนือของรั้วนี้ตลอดมา จนเมื่อปี พ.ศ. 2496 นายยู่เอี่ยมหรือเอี่ยมได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้จำเลยที่ 2 การครอบครองของโจทก์กับเจ้าของที่ดินทางด้านทิศเหนือต่างก็ครอบครองโดยถือรั้วเป็นเขตตลอดมา จนที่ดินด้านเหนือตกมาเป็นของจำเลย แล้วโจทก์จำเลยต่างจะปลูกตึกลงในที่ดินของตน จึงเกิดวัดเขตที่ดินกันขึ้นซึ่งบัดนี้โจทก์อ้างว่าที่ดินตามโฉนดของโจทก์ต้องกินข้ามรั้วเข้าไปทางทิศเหนืออีกโดยกว้าง 70 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 15.2 เมตร

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การครอบครองของเจ้าของที่ดินโดยถือเขตตามแนวรั้วที่กั้นอยู่เป็นเวลาช้านานกว่า 10 ปีมาแล้วรั้วก็กั้นเป็นเขตตามแนวหลักหิน จำเลยทำทางเดินก็ทำอยู่ในเขตรั้วด้านที่จำเลยครอบครองติดต่อมาจากเจ้าของเดิม มิใช่จำเลยเพิ่งบุกรุกเข้ามาดังโจทก์ฟ้อง จึงพิพากษายืน

โจทก์ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงคารมของคู่ความและปรึกษาคดีนี้แล้วข้อเท็จจริงได้ความชัดว่า รั้วที่กั้นเป็นเขตที่ดินของโจทก์และจำเลยนี้ โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นเองตามแนวเขตมาเกือบ 20 ปีแล้วเมื่อก่อนที่นายเอี่ยมจะขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลย นายเอี่ยมก็ได้ครอบครองที่ดินตามแนวรั้วนั้นตลอดมา 10 ปีเศษ ครั้น พ.ศ. 2496 นายเอี่ยมจึงขายที่ดินให้จำเลย ๆ ก็เข้าครอบครองโดยถือสิทธิเป็นเจ้าของตามแนวรั้วเขตนั่นเอง หาใช่จำเลยเพิ่งจะบุกรุกที่ดินของโจทก์ดังที่กล่าวในฟ้องไม่ แม้ที่พิพาทจะอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์หรือไม่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้แน่ชัดอย่างไรก็ดี ปรากฏว่านายเอี่ยมเจ้าของเดิม ได้ครอบครองที่พิพาทมากว่า 10 ปีแล้วโอนขายให้จำเลย ๆ เข้าครอบครองเป็นเจ้าของต่อมา จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385

จึงให้ยกฎีกาโจทก์ โดยพิพากษายืน ให้โจทก์เสียค่าทนายความในชั้นนี้แทนจำเลยเป็นเงิน 400 บาท

Share