แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 และให้ใช้ความใหม่ ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น”ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใด” ให้เป็น “ผู้ใด” ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกของจำเลยที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของ น. นั้น ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2526 มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และ 83
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 และ 267 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14(1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14(1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการที่ออกให้เพื่อแสดงถึงการรับรองสิทธิและฐานะความเป็นคนไทย รวมถึงเพื่อใช้แสดงตนของบุคคล จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่า พวกของจำเลยที่ 2 ชื่อนายนิคม คุ้มบุญ เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าบ้าน แต่ความจริงแล้วนายนิคมได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลที่มาแอบอ้าง การกระทำของจำเลยที่ 2 นับว่าก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ และอาจกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศชาติพฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ขณะที่จำเลยที่ 2 กระทำความผิด ยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า
“ผู้ใด
(1) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา 5 วรรคสี่ หรือมาตรา 6 หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา 6 ตรีหรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา 6 จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(2)…”
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่า กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น”ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด” ให้เป็น “ผู้ใด” ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกของจำเลยที่ 2 ที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของนายนิคมนั้นฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่า เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 จำเลยที่ 2 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 ประกอบด้วยมาตรา 83การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3