แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำร้องขอของโจทก์ที่ให้เรียกธนาคาร ท. บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อเป็นจำเลยร่วมไม่มีลักษณะเป็นคำฟ้องหรือคำคู่ความ ไม่เหมือนกรณีที่บุคคลภายนอกร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีไม่ว่าโดยความสมัครใจ หรือถูกหมายเรียกของศาลให้เข้ามา เนื่องจากคำร้องสอดของบุคคลภายนอกที่ยื่นต่อศาลเป็นการตั้งประเด็นโต้แย้งกับคู่ความในคดีจึงมีลักษณะเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) และ (5) เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ให้เรียกธนาคาร ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม จึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 7822 ถึง 7824 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาทำการโอนขายและรับชำระหนี้ต้นเงิน 1,754,963.16 บาทพร้อมดอกเบี้ยไปจากโจทก์ และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7761,7775, 7778, 7784, 7788, 7789, 7790 ถึง 7812, 7818, 7822 ถึง7824, 7861, 7896, 7898, 7902, 7906, 7927 และ 171649 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และส่งมอบโฉนดดังกล่าวคืนโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงแทนเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน15,551,666 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจำเลยจะส่งมอบโฉนดที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 โดยกำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าสืบก่อนแต่คดียังไม่มีการสืบพยานโจทก์เพราะมีเหตุจำเป็นที่ศาลต้องเลื่อนการพิจารณาคดีมาโดยตลอด จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นรวม 3 ฉบับ คือ
ฉบับแรก คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนคำขอท้ายฟ้องในข้อ 1บรรทัดที่ 3 เกี่ยวกับจำนวนโฉนดที่ดินที่ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนจำนองและส่งมอบคืนโจทก์ ลดจำนวนลงเหลือ 19 แปลง และขอให้บังคับจำเลยนำต้นฉบับโฉนดที่ดินที่จำเลยยึดถือไว้ทั้งหมดมาวางต่อศาลเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในระหว่างการพิจารณา
ฉบับที่สอง คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เพิ่งทราบภายหลังว่าธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตลอดจนบรรดาหนี้สินภาระผูกพันของจำเลยที่มีอยู่กับโจทก์ จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอให้บังคับจำเลยและธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 50,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ให้ธนาคารไทยธนาคารจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และให้จำเลยกับจำเลยร่วมส่งมอบโฉนดที่ดินรวม 20 แปลงคืนโจทก์
ฉบับที่สาม คำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายเรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 มีนาคม2542 ว่า สำหรับคำร้องขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องจากเดิมซึ่งมีอยู่ 36 แปลงโดยให้ลดลงเหลือเพียง 19 แปลง ตามคำร้องลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์2542 ข้อ 3 และข้อ 4 เป็นการแก้ไขเล็กน้อย อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้ ส่วนคำร้องตามข้อ 5 ศาลอ่านแล้วไม่เข้าใจความประสงค์ของโจทก์จึงให้โจทก์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องข้อ 5 ต่อศาลภายใน 7 วัน สำหรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องสอดโดยขอให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ร่วมรับผิดกับจำเลยนั้น เห็นว่าธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์และหนี้สินของจำเลยตามประกาศกระทรวงการคลังและพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2541 อยู่แล้ว ความรับผิดจึงตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ซึ่งหากโจทก์ชนะคดีก็สามารถบังคับคดีแก่จำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและคำร้องสอด ขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคารจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมอีก ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
วันที่ 7 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะข้อ 5(โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งให้โจทก์ทำคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในข้อ 5 มายื่นใหม่) และข้อ 7 (โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องและคำร้องที่ขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม) ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 (โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องว่า ไม่ชัดแจ้ง)เป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) จึงไม่รับ
วันที่ 21 เมษายน 2542 โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ว่า เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 3 ส่วนข้อ 5 และข้อ 7 ศาลได้มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ไว้แล้ว การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ทุกข้อจึงไม่ถูกต้อง ให้โจทก์ทำคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่ภายใน 7 วัน ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ทำคำร้องอุทธรณ์คำสั่งฉบับใหม่มายื่นต่อศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นอ่านไม่เข้าใจและให้โจทก์ไปทำมาใหม่นั้น พอเข้าใจได้ว่า โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินพิพาททั้งหมดมาวางต่อศาลเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะขอเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตามมาตรา 179(2) ส่วนคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องที่ขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน)เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เป็นการฟ้องบุคคลอื่นเป็นจำเลยเพิ่มเข้ามาในคดี ไม่ใช่กรณีขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามมาตรา 179 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยในผลส่วนคำขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ไม่ใช่คำคู่ความคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226(1) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์ฎีกาในข้อต่อมาว่า โจทก์ยื่นคำร้องสอดขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมซึ่งถือว่าเป็นคำคู่ความ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องสอดของโจทก์ จึงมีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความ โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ทันทีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องสอดของโจทก์เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามอุทธรณ์และไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ ยื่นคำร้องขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคารจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกให้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีคือเป็นจำเลยร่วม คำร้องของโจทก์ดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นคำฟ้องหรือคำคู่ความ ไม่เหมือนกับกรณีที่บุคคลภายนอกร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ไม่ว่าโดยความสมัครใจหรือถูกหมายเรียกของศาลให้เข้ามาคำร้องสอดของบุคคลภายนอกที่ยื่นต่อศาลเป็นการตั้งประเด็นโต้แย้งกับคู่ความในคดี จึงมีลักษณะเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) และ (5)ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เรียกธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมจึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18 แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ จึงชอบแล้ว อนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาขอให้หมายเรียกธนาคารไทยธนาคารจำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ จึงถือว่าปัญหาข้อนี้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน