คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 34273 จากชื่อบิดาจำเลยเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินระหว่างบิดาจำเลยกับจำเลยในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 ดังกล่าวเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยร่วมกัน กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าได้รับส่วนแบ่งข้าวลดลง โจทก์ทั้งห้าเสียค่าขึ้นศาลโดยตีราคาที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกับค่าเสียหายแล้ว เป็นทุนทรัพย์ตามคำฟ้องทั้งสิ้น226,800 บาท ปรากฏตามที่โจทก์ทั้งห้าอ้างในคำฟ้องว่าบิดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 และ 34273ดังกล่าวไว้แทนทายาททุกคนด้วย ซึ่งจำเลยก็ทราบดีเพราะจำเลยได้เข้าทำนาในที่ดินนั้นแทนบิดาจำเลย โจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทซึ่งมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวจึงขอให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยด้วย จึงเท่ากับโจทก์ทั้งห้าอ้างว่าโจทก์แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงนั้นร่วมกับจำเลยโดยมีส่วนคนละเท่า ๆ กัน ทุนทรัพย์ตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนย่อมคำนวณแบ่งแยกจากกันได้เป็นจำนวนเท่า ๆกัน คนละ 45,360 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าและพิพากษายืนจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อปรากฏตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวในข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์แต่ละคนจึงมีจำนวนเพียง 45,360 บาท หาใช่จำนวน 226,800 บาทไม่ซึ่งเป็นจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งทั้งเป็นข้อฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1อันเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่งด้วย ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 34273 ตำบลตำแย อำเภอเมืองศรีสะเกษ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอพยุห์) จังหวัดศรีสะเกษ จากชื่อบิดาจำเลยเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินระหว่างบิดาจำเลยกับจำเลยในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 ตำบลตำแยอำเภอเมืองศรีสะเกษ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอพยุห์) จังหวัดศรีสะเกษ และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900ดังกล่าว เป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยร่วมกัน กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงินจำนวน 16,800 บาท

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งห้าฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 34273 ตำบลตำแยอำเภอเมืองศรีสะเกษ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอพยุห์) จังหวัดศรีสะเกษ จากชื่อบิดาจำเลยเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินระหว่างบิดาจำเลยกับจำเลยในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 ตำบลตำแย อำเภอเมืองศรีสะเกษ (ปัจจุบันกิ่งอำเภอพยุห์)จังหวัดศรีสะเกษ และจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 ดังกล่าวเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้าและจำเลยร่วมกันกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งห้าได้รับส่วนแบ่งข้าวในปี 2539ลดลงแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงินจำนวน 16,800 บาท โจทก์ทั้งห้าเสียค่าขึ้นศาลโดยตีราคาที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกับค่าเสียหายจำนวน 16,800บาท แล้วเป็นทุนทรัพย์ตามคำฟ้องทั้งสิ้นจำนวน 226,800 บาท ปรากฏตามที่โจทก์ทั้งห้าอ้างในคำฟ้องว่า บิดาจำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 33900 และ 34273 ดังกล่าวไว้แทนทายาททุกคนด้วยซึ่งจำเลยก็ทราบดีเพราะจำเลยได้เข้าทำนาในที่ดินนั้นแทนบิดาจำเลยโจทก์ทั้งห้าในฐานะทายาทซึ่งมีสิทธิในที่ดินดังกล่าว จึงขอให้จำเลยแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงโดยใส่ชื่อโจทก์ทั้งห้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยด้วย ดังนี้ ที่โจทก์ทั้งห้าอ้างในคำฟ้องดังกล่าวจึงเท่ากับโจทก์ทั้งห้าอ้างว่าโจทก์แต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงนั้นร่วมกับจำเลยโดยมีส่วนคนละเท่า ๆ กัน และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามคำฟ้องจากจำเลยคนละเท่า ๆ กัน ทุนทรัพย์ตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนย่อมคำนวณแบ่งแยกจากกันได้เป็นจำนวนเท่า ๆ กัน คนละ 45,360 บาทเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และโจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอท้ายคำฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนจึงมีจำนวน 45,360 บาทซึ่งไม่เกินจำนวน 50,000 บาท ห้ามมิให้โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าและพิพากษายืน โดยให้โจทก์ทั้งห้าใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์3,000 บาท แทนจำเลยนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเมื่อปรากฏตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่าโจทก์ทั้งห้าฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าว ในข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1วินิจฉัยทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์แต่ละคนจึงมีจำนวนเพียง 45,360 บาท หาใช่จำนวน 226,800 บาทไม่ ซึ่งเป็นจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งทั้งเป็นข้อฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1อันเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่งด้วย ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของโจทก์ทั้งห้าให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งห้า

Share