คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2272/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ฯ พ.ศ.2476ไม่มีบทบัญญัติให้ขายที่ดินที่เหลือใช้คืนแก่เจ้าของเดิม ดัง พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 กระทรวงการคลังมอบให้เทศบาลจัดที่ดิน เทศบาลใช้ที่ดินที่เหลือจากทำถนนสร้างตึกแถว ตลาดสดและท่าเทียบเรือได้ ไม่ต้องขายคืนแก่เจ้าของเดิม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องที่โจทก์ขอให้จำเลยขายที่ดินที่ซื้อไปจากโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อทำถนน พ.ศ. 2476 ที่เหลือจากทำถนนคืนแก่โจทก์ โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่ากระทรวงการคลังได้ซื้อที่พิพาทจากโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อทำถนนในจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2476โดยทำสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์กัน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ. 2478 และได้ขึ้นทะเบียนราชพัสดุไว้เลขที่ 6505เทศบาลเมืองสมุทรปราการซึ่งมีหน้าที่จัดที่ดินในบริเวณเกิดเพลิงไหม้ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ใช้ที่พิพาทส่วนหนึ่งสร้างถนนเป็นเนื้อที่ 13 ตารางวา เหลือที่ดินอีก 107 ตารางวาที่ดินส่วนที่เหลือเทศบาลเมืองสมุทรปราการได้สร้างเขื่อนกั้นน้ำแล้วถมดินปลูกอาคารพาณิชย์ 6 ห้อง ด้านหลังตึกแถวสร้างตลาดสดและท่าเทียบเรือซึ่งอยู่ในเขตลำน้ำเจ้าพระยา

ปัญหาที่จะวินิจฉัยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ได้หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า กระทรวงการคลังซื้อที่ดินพิพาทของโจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อทำถนนในจังหวัดสมุทรปราการ พุทธศักราช 2476 โดยทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าที่ดินที่ซื้อมาจะต้องทำเป็นถนนหรือตรอกทั้งหมด แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ เทศบาลเมืองสมุทรปราการตัดทำถนนไปบางส่วน เป็นเนื้อที่ 13 ตารางวา ที่ดินส่วนที่เหลืออีก 107 ตารางวา ก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังตามสัญญาซื้อขาย สำหรับที่ดินส่วนที่เหลือนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อทำถนนในจังหวัดสมุทรปราการพุทธศักราช 2476 บัญญัติว่า ถ้ามีที่ดินเหลือจากที่ได้ทำและขยายถนนและตรอก และที่ว่างแล้ว ให้เจ้าพนักงานจัดการจำหน่ายขายเสีย หรือจะส่งที่ดินนั้นต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (กระทรวงการคลัง) อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เห็นได้ว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดบังคับว่าจะต้องขายที่ดินส่วนที่เหลือคืนให้เจ้าของเดิม การที่จำเลยเอาที่ดินส่วนที่เหลือจากการทำและขยายถนนไปทำประโยชน์อย่างอื่น หาอาจถือว่ามิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังตามสัญญาซื้อขายแล้ว กรณีไม่เหมือนกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พุทธศักราช 2477 ซึ่งมีบทบัญญัติให้เจ้าของเดิมมีสิทธิเรียกร้องที่ดินคืนได้ ในกรณีที่รัฐบาลมิได้ใช้ที่ดินทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดอันเป็นความประสงค์ในการเวนคืนที่ดินนั้น ภายในเวลากำหนด ดังที่โจทก์ฎีกา คำพิพากษาฎีกาที่ 558/2496 ระหว่างคุณหญิงอรรถกระวีสุนทร โจทก์ กระทรวงคมนาคม กับพวก จำเลยที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกระทรวงการคลังให้โอนที่ดินพิพาทคืน”

พิพากษายืน

Share