คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 มาตรา 30 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 เป็นแต่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนขับรถที่หลบหนีเป็นผู้กระทำผิด ไม่ใช่สันนิษฐานเด็ดขาด มีผลผูกมัดเฉพาะผู้กระทำผิดซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความเท่านั้น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์มีพยานนำสืบว่าคนขับรถยฝ่ายจำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาไฟแดงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า วันเกิดเหตุคนขับรถฝ่ายโจทก์ขับรถจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปตามถนนพระราม 4 มุ่งหน้าไปทางสี่แยกศาลาแดง พอถึงบริเวณสี่แยกสามย่าน คนขับรถฝ่ายจำเลยขับรถสวนทางมาแล้วเลี้ยวขวาตรงสี่แยกสามย่านเพื่อไปถนนพญาไท รถทั้งสองคันชนกันตรงสี่แยกสามย่าน ซึ่งตรงนั้นมีสัญญาณไฟควบคุมการจราจรแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุม รถที่จะเลี้ยวขวาให้เลี้ยวได้เมื่อมีสัญญาณไฟลูกศรสีเขียวรถทางตรงที่จะสวนมาก็มีสัญญาณไฟสีแดงให้หยุด

ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีพยานนำสืบว่าคนขับรถฝ่ายจำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงนั้น ได้แก่นายอารีย์ ใจเอี่ยม ร้อยตำรวจตรีอิสรา เจริญพูลและการเจรจาค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายอารีย์ ใจเอี่ยม และร้อยตำรวจตรีอิสรา เจริญพูลไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุขณะเกิดเหตุ ได้ความว่านายอารีย์ ใจเอี่ยม เป็นพนักงานฝ่ายตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ของโจทก์ไปที่เกิดเหตุภายหลังจากเกิดเหตุและทราบจากคนขับรถฝ่ายโจทก์ว่า ขณะเกิดเหตุมีสัญญาณไฟสีเขียวให้รถทางตรงไปได้เท่านั้น และร้อยตำรวจตรีอิสรา เจริญพูล เป็นรองสารวัตรจราจรผู้รับแจ้งเหตุแล้วไปดูที่เกิดเหตุ และอ้างว่าคนขับรถฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายผิดซึ่งไม่มีพยานหลักฐานอ้างอิง ส่วนการเจรจาค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายให้เมื่อคดีถึงที่สุดและคนขับรถของจำเลยเป็นฝ่ายผิด หาใช่จำเลยรับว่าคนขับรถของจำเลยเป็นฝ่ายประมาทไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่าคนขับรถของจำเลยขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ที่โจทก์ฎีกาว่าคนขับรถของจำเลยหลบหนี โจทก์ได้รับข้อสันนิษฐานตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 59 มาตรา 30 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าคนขับรถของจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น เห็นว่ากฎหมายเพียงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนขับรถของจำเลยเป็นผู้กระทำผิด หาใช่กฎหมายสันนิษฐานเด็ดขาดว่าคนขับรถของจำเลยเป็นผู้กระทำผิดไม่ ทั้งบทบัญญัติของมาตรานี้ก็ผูกมัดเฉพาะผู้กระทำความผิดซึ่งเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้เท่านั้นที่จะต้องเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าคนขับรถของจำเลยขับรถโดยประมาทตามฟ้อง”

พิพากษายืน

Share