คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แจ้งความเท็จต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสืบสวนคดีอาญาด้วย แต่แจ้งความในฐานะรัฐมนตรี ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 172,173
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาทดูหมิ่นเจ้าพนักงาน จำคุก 1 ปี ปรับ 600 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์20,000 บาท ศาลเห็นควรรอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี เพราะเป็นความผิดเล็กน้อยและเสียค่าสินไหมทดแทนสูงพอที่จะทำให้รู้สำนึกแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173 จำคุก 2 ปี 6 เดือน ลงโทษตามมาตรา 328 จำคุก 8 เดือน ลงโทษตามมาตรา 343 ปรับ 600 บาท จำคุก 6 เดือนตามมาตรา 329 อีกกระทงหนึ่งรวมจำคุก 3 ปี 8 เดือน ให้ใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทลงโทษตามมาตรา 172, 173 เป็นมาตรา 137 จำคุก 3 เดือน และแก้โทษรวมเป็นโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 600 บาท คำนึงถึงอาชีพสิ่งแวดล้อมและพฤติการณ์อื่น ๆ ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นข้าราชการชั้นเอกดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองพิจิตรจำเลยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ และเป็นเจ้าของบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์เสียงชาวบ้านประจำจังหวัดพิจิตร จำเลยได้มีหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.13/1 แผ่นที่ 2 ต่อพลตำรวจโทชุมพล โลหะชาละ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจด้วย และในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตามมาตรา 136, 137 มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,173 ด้วยหรือไม่ อันการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามมาตรา 172, 173จะต้องเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา และรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยส่งหนังสือร้องเรียนเท็จดังกล่าวต่อ พลตำรวจโทชุมพลโลหะชาละ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะเมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนเท็จนั้นแล้ว พลตำรวจโทชุมพล โลหะชาละ ได้ส่งเรื่องให้กรมการปกครองดำเนินการ และกรมการปกครองสั่งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทำการสอบสวนข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่าไม่เป็นความจริง ก็สั่งยุติการสอบสวนเป็นการสั่งดำเนินการตามสายงานเกี่ยวกับความผิดทางวินัย มิได้สั่งการในฐานะรองอธิบดีกรมตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญากับจำเลย ฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 172, 173 ดังโจทก์ฎีกา

ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยเบาไป และไม่ควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่าตามมาตรา 136 และ 137 กฎหมายบัญญัติระวางโทษเท่ากันให้จำคุกไม่เกินหกเดือน และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกสามเดือนนั้น เป็นการลงโทษที่เหมาะสมแก่ความผิดและฐานะอาชีพของจำเลยแล้ว และตามมาตรา 328 กฎหมายบัญญัติให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดกระทงแรกหกเดือนและความผิดกระทงหลังสามเดือนนั้น ก็เห็นว่า เป็นการเหมาะสมเช่นเดียวกันส่วนเรื่องการรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่เป็นความผิดเล็กน้อย และจำเลยต้องเสียค่าปรับกับใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงพอที่ทำให้จำเลยได้รับผลและรู้สึกในผลแห่งการกระทำของจำเลยแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดี”

พิพากษายืน

Share