คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนศาลพิพากษา จำเลยขอแก้คำให้การที่รับสารภาพไว้แล้ว ศาลพิจารณาตามสำนวนนอกไปจากเหตุที่จำเลยอ้างขึ้น ถ้ามีเหตุสมควรก็อนุญาตได้

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้โจทก์ฟ้องกล่าวความว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2498 เวลากลางคืน จำเลยบังอาจใช้อาวุธปืนลูกซองยาวยิงนายแต้มพูลสำลี 1 นัด โดยเจตนาฆ่า นายแต้มได้รับบาดเจ็บสาหัสและขาดใจตายเพราะพิษบาดแผลในคืนนั้นเอง ปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องเหตุเกิดที่ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

จำเลยให้การรับสารภาพตามโจทก์ฟ้อง

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเสร็จในวันเดียวกับวันที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้น และจำเลยไม่ติดใจสืบพยานศาลนัดอ่านคำพิพากษาในวันต่อไป ก่อนถึงวันอ่านคำพิพากษา จำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม โดยอ้างว่ามิใช่เป็นคำรับที่สมัครใจของจำเลย จำเลยถูกเจ้าพนักงานสอบสวนบังคับขู่เข็ญให้รับ ไม่อาจขัดขืนได้จึงต้องทนรับ

ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้เสร็จการพิจารณาของศาลโดยจำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์สืบพยานประกอบแล้ว ทั้งจำเลยก็แถลงไม่ติดใจสืบพยานจำเลยแล้ว คงเหลือแต่ศาลจะพิพากษาเท่านั้น จำเลยมิได้อ้างเลยว่า การที่จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลเกิดจากการกระทำไม่ชอบของศาลเพราะเหตุใด และการพิจารณาก็เสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การ และพิพากษาว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงดังโจทก์ฟ้องเป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ด้วย แต่กฎหมายลักษณะอาญาถูกยกเลิกไปแล้วจึงใช้ประมวลกฎหมายอาญาลงโทษแก่จำเลย โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 16 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี

จำเลยอุทธรณ์ต่อมาทั้งปัญหาในเรื่องขอถอนคำให้การเดิม และปัญหาในท้องสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 บัญญัติว่า “เมื่อมีเหตุอันควรจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลพิพากษา” และเรื่องนี้ยังไม่ได้อ่านคำพิพากษา จำเลยมีสิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคำให้การของตนได้ และข้ออ้างของจำเลยก็มีเหตุผลสมควรกรณีสมควรฟังคำให้การต่อสู้ของจำเลยอีกชั้นหนึ่งก่อน จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าโจทก์จำเลยประสงค์จะสืบพยานก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า ข้อความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 มิได้บังคับไว้ว่า เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การแล้ว ศาลจะต้องขออนุญาตเสมอไป จะสั่งอนุญาตก็ต่อเมื่อพิเคราะห์เห็นสมควรเท่านั้น มิฉะนั้น จำเลยก็ขอถอนคำให้การหรือเปลี่ยนแปลงคำให้การใหม่ ทำให้คดีของศาลไม่มีทางสิ้นสุดลงได้โดยเวลาอันควร

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 นั้น มิใช่ว่าก่อนเวลาที่ศาลชั้นต้นยังมิได้อ่านคำพิพากษาแล้ว ศาลจะต้องยอมอนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิม แก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การใหม่ได้เสมอไม่ อันจะเป็นช่องทางประวิงคดีให้ล่าช้า ศาลจำต้องพิจารณาถึงเหตุผลอันสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมประกอบด้วยซึ่งแล้วแต่จะปรากฏในท้องสำนวนเป็นรายคดีไป

เฉพาะคดีเรื่องนี้ ปรากฏว่าเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2498 โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2500 นายพันตำรวจตรีบุญลือ พยานโจทก์ให้การว่า ชั้นเดิมพนักงานสอบสวน สอบสวนได้ความว่า จำเลยทำปืนลั่นถูกนายแต้มผู้ตายโดยประมาท แต่ต่อมาพยานสืบสวนได้ความว่า จำเลยฆ่านายแต้มตายโดยเจตนา จึงสั่งจับตัวจำเลยมาใหม่และชั้นสอบสวนคราวนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้ยิงนายแต้มตายจริงซึ่งเห็นได้ชัดว่า การสอบสวนทั้งสองคราวนั้นได้ความไปคนละทางขัดกันและตามรายงานการชันสูตรพลิกศพของนายแต้มมีบันทึกไว้ในช่อง “เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย” ว่าถูกกระสุนปืนลูกซองตายโดยการยื้อแย่งปืนกันดู เผอิญปืนลั่นถูกตัวเองตาย เหล่านี้ปรากฏจากหลักฐานของโจทก์ที่เสนอมาเพื่อขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องในคดีเรื่องนี้ทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดเหตุผลอันควรสงสัยว่า เหตุการณ์ตามความเป็นจริงนั้นมีอยู่อย่างไรกันแน่ และจำเลยได้ร้องขอถอนคำรับสารภาพของจำเลย เพราะมิใช่เป็นคำรับที่สมัครใจ โดยจำเลยถูกเจ้าพนักงานสอบสวนบังคับขู่เข็ญให้รับไม่อาจขัดขืนได้ จึงต้องทนรับศาลฎีกาจึงเห็นเหตุผลอันสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การเดิมนั้นได้

ด้วยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนในผลแห่งคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ที่ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และถ้าโจทก์จำเลยประสงค์ จะสืบพยานก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาให้เสร็จสิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ให้ยกฎีกาของโจทก์

Share