แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องว่า โจทก์เป็นน้องเจ้ามรดกจำเลยเป็นลูกจ้างเจ้ามรดกทายาทอื่นไม่มี จำเลยลอบเอาโฉนดมรดกไปโอนรับมรดกอ้างว่าเป็นสามีขอเพิกถอนการโอน จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นสามีเจ้ามรดกดังนี้โจทก์เป็นผู้ฟ้องจำเลยไม่รับ โจทก์ต้องพิสูจน์ที่ดินอยู่ในครอบครองของจำเลยและได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดเป็นชื่อจำเลยไปแล้วโจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการโอนโจทก์จะสืบว่า โจทก์เป็นทายาทเท่านั้นไม่พอต้องสืบว่าการโอนทำโดยจำเลยไม่มีอำนาจ
ย่อยาว
คดีเรื่องนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวความว่า นางคอนหรือสาครเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2497 มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 2 แปลง ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง เจ้ามรดกไม่มีทายาทอื่นนอกจากโจทก์แต่ผู้เดียวซึ่งเป็นน้องร่วมมารดาเดียวกัน เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของเจ้ามรดก ได้ลักลอบนำโฉนดที่ดินมรดกสองแปลงนั้น ไปแจ้งความเท็จต่อพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรีว่า จำเลยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกแต่ผู้เดียวไม่มีทายาทอื่นอีก เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงได้โอนโฉนดให้จำเลยเป็นผู้รับมรดกไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2497จำเลยกระทำไปโดยไม่มีสิทธิประการใด และเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกรายนี้แต่ผู้เดียว และเพิกถอนการรับมรดกของจำเลยในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงนั้นเสีย
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยเป็นสามีของนางคอนตั้งแต่เดือน 6 พ.ศ.2478และอยู่กินด้วยกันตลอดมาจนนางคอนถึงแก่ความตายไป จำเลยมีสร้อยคอทองคำราคาประมาณ 430 บาท กับสิ่งของอื่นเป็นสินเดิมนางคอนมีสินเดิมคือ ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ 351 เท่านั้น ส่วนแปลงโฉนดที่ 350 เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางคอน หากเป็นความจริงว่าโจทก์เป็นน้องร่วมมารดาของนางคอน ก็ต้องแยกส่วนสินสมรส และแบ่งส่วนของสามีในทางมรดกให้แก่จำเลย และขอให้แบ่งเงินค่าทำศพไว้ด้วย
ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว เชื่อว่าโจทก์เป็นน้องร่วมมารดาและจำเลยเป็นสามีของนางคอน แต่จำเลยไม่มีสินเดิม จึงให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ 350อันเป็นสินสมรสให้แก่จำเลย 1 ส่วน เหลืออีก 2 ส่วน เอาไปรวมกับที่ดินสินเดิมโฉนดที่ 351 เป็นทรัพย์มรดกของนางคอน แบ่งให้โจทก์ 1 ใน 3 ในฐานะทายาทอันดับ 4 ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และให้จำเลย 2 ใน 3 ในฐานะทายาทอันดับ 1 ตาม มาตรา 1629 และ 1635 (วรรค 1-2) ถ้าตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลระหว่างกันเองก่อน เมื่อตกลงกันไม่ได้ ให้ประมูลระหว่างกันเองก่อน เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ให้ขายทอดตลาด แล้วหักค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่าย และค่าทนายฝ่ายละ 250 บาท กับค่าทำศพนางคอน 3,000 บาท จากกองมรดกเหลือเงินสุทธิ จึงให้แบ่งกันตามส่วนที่กล่าวแล้ว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมา คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำสืบก่อนเป็นการผิดต่อระเบียบวิธีพิจารณา และข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางคอน
ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลงการณ์ของทนายจำเลย และตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว
ปัญหาเรื่องหน้าที่นำสืบสำหรับคดีเรื่องนี้ อันที่จริงไม่เห็นจะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากอย่างใดเลย เพราะโจทก์เป็นผู้เสนอคำฟ้องขึ้นมา เมื่อจำเลยไม่ได้รับข้อเท็จจริงตามฟ้อง โจทก์ก็เป็นฝ่ายที่จะต้องนำสืบพิสูจน์อยู่แล้ว โดยเฉพาะคดีเรื่องนี้ ที่ดินรายพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลย และได้แก้ทะเบียนโอนชื่อในโฉนดที่ดินเป็นชื่อของจำเลยในฐานะที่เป็นสามีของเจ้ามรดกไปแล้วด้วยเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ดินดังกล่าวนั้น โจทก์ก็ต้องนำสืบพิสูจน์ด้วยว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหากโจทก์สืบลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกด้วยคนหนึ่งเพียงเท่านี้ โจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนทางทะเบียน และเรียกเอาที่ดินทั้งหมดไปเป็นของโจทก์คนเดียวตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้อย่างไรใช่แต่เท่านั้น ตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 3 มกราคม 2498 ศาลกะประเด็นข้อนำสืบรวม 5 ข้อ และเพื่อประโยชน์แก่การนำสืบที่จะได้ไม่ต้องนำสืบกลับไปกลับมา โจทก์แถลงยอมรับเป็นฝ่ายนำสืบก่อนทั้งหมด เป็นที่ตกลงกันดังนี้แล้ว ไม่เห็นมีเหตุผลสมควรประการใดที่โจทก์จะกลับมาคัดค้านว่า ศาลกะหน้าที่นำสืบผิดระเบียบวิธีพิจารณาเช่นนี้อีก ฎีกาของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาเรื่องจำเลยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางคอนเจ้ามรดกจริงหรือไม่
ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความว่า เดิมนางคอนเป็นภรรยานายเอม จำเลยเคยมารับจ้างทำสวน นายเอมถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2478 หลังจากนั้น นางคอนได้เสียเป็นสามีภรรยากับจำเลยและอยู่กินด้วยกันตลอดมา จนกระทั่งนางคอนถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2497 ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2497 จำเลยไปร้องขอรับมรดกที่ดินรายพิพาทนี้ทั้งสองแปลงในฐานะที่เป็นสามีของนางคอนผู้ตายเจ้าพนักงานที่ดินได้ประกาศแล้ว ไม่มีใครคัดค้านจึงได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดที่ดินเป็นชื่อจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน2497 โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2497
โจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นน้องร่วมมารดาของนางคอน นายเอม ตายแล้ว 1 หรือ 2 ปี จำเลยจึงได้มาอยู่บ้านนางคอน จะได้เสียเป็นสามีภรรยากันหรือไม่ และได้เสียกันเมื่อใดไม่รู้ นายประเสริฐเป็นบุตรบุญธรรมของนางคอน เคยอยู่กินร่วมเรือนเดียวกับนางคอนมาและโจทก์เคยปลูกเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับเรือนของนางคอน แต่เมื่อนางคอนตายแล้ว จำเลยคงครอบครองต่อมาคนเดียว โดยนายประเสริฐออกไปอยู่กับมารดาของตน และโจทก์ก็เลยรื้อเรือนไปอาศัยอยู่กับนายประเสริฐจนบัดนี้
ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยได้ไปอยู่กับนายเอม นางคอนตั้งแต่นายเอมยังมีชีวิตอยู่ โดยนายเอมชวนให้ไปอยู่ด้วย และได้ช่วยรักษาพยาบาลนายเอมระหว่างป่วยตลอดมาจนนายเอมถึงแก่ความตายเมื่อเอาศพไปไว้วัดแล้วจำเลยจะกลับไปอยู่บ้านของจำเลยนางคอนขอร้องไว้ไม่ยอมให้กลับ ต่อจากนั้นประมาณ 10 วัน จำเลยก็ได้เสียกับนางคอนและอยู่กินด้วยกันโดยเปิดเผยตลอดมาจนกระทั่งนางคอนถึงแก่ความตายจำเลยได้จัดการทำบุญศพและเอาไปไว้วัดเช่นเดียวกับศพของนายเอม
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ถ้อยคำพยานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าแม้แต่พยานของโจทก์เองก็มิได้มีผู้ใดยืนยันปฏิเสธว่า จำเลยกับนางคอนมิได้สมสู่อยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยา การนำสืบของโจทก์เพียงพยายามจะชี้ให้เห็นว่าก่อนนั้น จำเลยไม่เคยติดต่อเกี่ยวข้องกับนายเอม นางคอนประการใดเลย จำเลยเพิ่งจะได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับนางคอนภายหลังที่นายเอมตายไปแล้วประมาณ 1 หรือ 2 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้เสียเป็นสามีภรรยากันภายหลังวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คือวันที่ 1 ตุลาคม 2478และเมื่อไม่ได้จดทะเบียนการสมรส ก็ไม่ใช่สามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเอง แต่เรื่องนี้ฝ่ายจำเลยนำสืบได้ความชัดเจนว่า จำเลยได้เข้ามาอยู่กับนายเอม นางคอนแล้วก่อนนายเอมตายและได้ช่วยพยาบาลนายเอมอยู่ตลอดเวลาที่นายเอมล้มป่วยจนกระทั่งนายเอมถึงแก่ความตายไป ได้ช่วยทำบุญศพและจัดการเอาศพไปไว้วัดหลังจากนั้นประมาณ 10 วัน ก็ได้เสียกับนางคอน และอยู่กินด้วยกันฉันท์สามีภรรยาโดยเปิดเผยตลอดมา จนกระทั้งนางคอนตายจากไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2497 รวมระยะเวลาได้ถึง 10 ปี และจำเลยยังนำสืบได้ว่า ได้ทำมาหากินร่วมกับนางคอนตลอดเวลา จนมีเงินไถ่ถอนที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ 351 และได้ที่ดินพิพาทแปลงโฉนดที่ 350 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1 แปลง ดังนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นสามีของนางคอนโดยชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียแล้ว หาใช่เพิ่งได้เสียกันภายหลังประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ดังที่โจทก์พยายามนำสืบมานั้นไม่
ข้อที่โจทก์พยายามโต้แย้งในฎีกาว่า ระหว่างวันที่ 25 เมษายน 2478 ซึ่งเป็นวันที่นายเอมถึงแก่ความตาย จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มีช่วงเวลาเพียง 158 วัน ไม่มีพฤติการณ์เพียงพอที่จะให้รับฟังว่าจำเลยกับนางคอนเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกับนางคอนสมัครใจเป็นสามีภรรยาและอยู่กินด้วยกันอย่างสามีภรรยาโดยเปิดเผย ย่อมเป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะให้รับฟังได้อยู่แล้ว พฤติการณ์ต่อมาตลอดเวลา10 ปี จำเลยกับนางคอนก็ปฏิบัติต่อกันเช่นเดิมตลอดมา ทั้งในการคลองเรือนและการทำมาหากินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาทั้งหลาย ซึ่งเป็นการประกอบให้เห็นได้ถนัดชัดเจนยิ่งขึ้นแม้แต่ตัวโจทก์เองก็ยังยอมรับนับถือสิทธิแห่งความเป็นสามีของจำเลยอยู่ซึ่งเห็นได้ชัดจากพฤติการณ์ของโจทก์และพยานโจทก์เองว่า ก่อนนางคอนตาย โจทก์และนายประเสริฐเคยอยู่ร่วมกับนางคอน โดยอาศัยสิทธิของนางคอนมาครั้นเมื่อนางคอนตายแล้วโจทก์และนายประเสริฐก็พากันแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ถึงกับตัวโจทก์เองต้องรื้อเรือนของตนไปด้วย ดังนี้จะให้หมายความว่ากระไร โจทก์เองเป็นทายาทของนางคอนผู้ตายอยู่แล้วตามกฎหมาย หากถือว่าจำเลยเป็นลูกจ้างของผู้ตายจริงดังฟ้องและไม่ยอมรับนับถือว่าจำเลยเป็นสามีของผู้ตาย โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ก็เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนั้นคนเดียวโดยสมบูรณ์ เหตุไฉนโจทก์จึงกลับยอมรื้อเรือนออกไปเสียเช่นนั้นเล่า ปล่อยให้จำเลยคนเดียวครอบครองที่ดินรายพิพาทตลอดมา จนจำเลยประกาศโอนรับมรดกไปแล้ว และเพิ่งจะนำคดีมาฟ้องเมื่อจวนจะครบกำหนดอายุความมรดก 1 ปี น่าจะได้แย้งสิทธิของจำเลยเสียตั้งแต่แรกนั้นแล้ว เหตุผลทั้งนี้จึงสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยให้น่ารับฟังขึ้นอีกประการหนึ่งด้วย
อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นพ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาของโจทก์และให้โจทก์เสียค่าทนายชั้นนี้แก่จำเลย 150 บาท