แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสืบว่าสามีโจทก์ผู้ให้กู้ใส่จำนวนเงินในสัญญากู้ผิดจากที่ขอกู้เป็นการสืบให้เห็นว่าจำนวนเงินที่เขียนลงในสัญญากู้ผิดจากที่กู้จริงถือว่าเท่ากับสืบว่าสามีโจทก์ปลอมจำนวนเงินกู้อันเป็นเรื่องสืบว่าเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วนย่อมนำสืบได้ตามข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
การนำสืบว่าผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 มิใช่ร้อยละ1.25 ดังที่ปรากฏในเอกสารเป็นการสืบให้เห็นว่าเรียกดอกเบี้ยผิดกฎหมายย่อมนำสืบได้
การนำสืบว่าได้มีการใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ต้องมีหลักฐานการรับเงินเป็นหนังสือมาแสดง
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยสองสำนวน โดยที่โจทก์จำเลยเป็นคู่ความคนเดียวกัน พยานหลักฐานชุดเดียวกัน ศาลจึงรวมพิจารณาพิพากษาด้วยกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้อีก 17,200 บาทที่ยังค้างจากจำนวนที่จำเลยทำหนังสือกู้ไป 37,200 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทที่ค้างอีก 5,072 บาท 84 สตางค์
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้ 5,760 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทที่ค้างอีก 861 บาท 60 สตางค์
สำนวนแรกจำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์เพียง 30,000 บาท สามีโจทก์เขียนสัญญาจะใส่จำนวนเงินลงเท่าใด จำเลยไม่ทราบ โจทก์เรียกดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อเดือน จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นตัวเงินบ้างทองรูปพรรณบ้าง โจทก์ไม่ออกใบรับให้ ต่อมาโจทก์เร่งรัดให้ชำระต้นเงินกู้ จำเลยจึงโอนสวนยางใช้หนี้โจทก์ตีราคา 20,000 บาท ต่อมาโจทก์ให้จำเลยโอนรถยนต์ตีใช้หนี้โจทก์อีก จำเลยก็ยอมโอนให้ ต่อมาจำเลยไปขอสัญญากู้คืนกับขอเงินที่เกินอยู่โจทก์ว่าหนังสือกู้ไม่ต้องคืนฉีกเสียก็ได้ แล้วฉีกกระดาษคล้ายสัญญากู้ต่อหน้าจำเลย ส่วนเงินที่เกินโจทก์บอกว่าเสียเป็นค่าใช้จ่ายในการโอนสวนยางหมด จำเลยเพิ่งรู้ว่าถูกโจทก์หลอกลวงเมื่อถูกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยให้การว่าได้กู้เงินโจทก์เพียง 3,000 บาทดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อเดือน สามีโจทก์เขียนสัญญาจะใส่จำนวนเงินลงเท่าใด จำเลยไม่ทราบ นอกจากนี้ต่อสู้เช่นเดียวกับคดีแรก
ศาลชั้นต้นฟังว่าเอกสารสัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่ตรงกับความจริงจะรับฟังมาบังคับจำเลยไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่น่าเชื่อ และจำเลยจะนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขหนังสือกู้ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยจะสืบพยานแก้ไขสัญญากู้ไม่ได้ ต้องห้ามโดย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น แม้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จะห้ามมิให้นำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารก็ดีแต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ที่อนุญาตให้นำสืบว่าเอกสารนั้นปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ฯลฯ การที่จำเลยนำสืบว่าสามีโจทก์ใส่จำนวนเงินเอาเองผิดไปจากที่จำเลยกู้นั้น เป็นการสืบให้เห็นว่าจำนวนเงินที่เขียนลงในสัญญากู้ผิดจากที่ขอกู้จริง เท่ากับสามีโจทก์ปลอมจำนวนเงินกู้ จำเลยจึงย่อมนำสืบได้ตามข้อยกเว้นของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 การที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์คิดเอาดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาท มิใช่ร้อยละ 1.25 บาทดังที่ปรากฏในเอกสารก็นำสืบได้ เพราะเป็นการสืบให้เห็นว่าโจทก์เรียกเอาดอกเบี้ยผิดกฎหมายแต่ฟังข้อเท็จจริงว่าไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะยอมให้สามีโจทก์เขียนลงในสัญญากู้โดยจำเลยไม่รู้ และยอมลงลายมือชื่อโดยไม่มีใครอ่านให้ฟัง เมื่อจำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ตามเอกสารที่โจทก์ฟ้องโดยสมัครใจแล้วจะนำสืบเถียงว่า ความจริงจำเลยได้รับเงินไปไม่ถึงจำนวนเท่าที่ปรากฏในเอกสารย่อมไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ข้อที่ว่าจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์นอกจากเอาสวนยางตีใช้หนี้ จำเลยไม่มีใบรับมาแสดงเอกสารกู้ยืมก็ยังอยู่กับโจทก์ จึงเชื่อไม่ได้ว่าชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว
พิพากษากลับให้จำเลยชำระต้นเงินสำนวนแรก 17,200 บาท ดอกเบี้ยที่ค้าง 5,072.84 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนในต้นเงิน 17,200 บาทแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสำนวนหลัง 5,760 บาท ดอกเบี้ยที่ค้าง 861.60 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนในต้นเงิน 5,760 บาทแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าธรรมเนียม 3 ศาล กับค่าทนาย 3 ศาลรวม 2,000 บาทแทนโจทก์ด้วย