คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 279/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรวมกระทงลงโทษ เมื่อรวมโทษทุกกระทงเข้าด้วยกันแล้วจะลงโทษเกินกว่าอัตราขั้นสูงได้
การที่จำเลยเขียนชื่อและประทับตราชื่อห้างร้านที่ไม่มีตัวจริงแต่เป็นห้างร้านที่สมมุตขึ้นและใช้ชื่อและประทับตราที่สมมุตขึ้นในการออกเช็คสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คที่ไม่มีห้างร้านตัวจริง เป็นผิดฐานปลอมหนังสือทั้งฉบับ
เช็คเป็นใบสั่งให้จ่ายเงินตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา225(4)และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา266(4) โดยอยู่ในลักษณะ 21ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คำร้องขอแก้ฟ้องที่ศาลไม่ได้สอบถามคู่ความและมีคำสั่งอย่างไรนั้น ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแม้ศาลจะได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายก็ตาม และศาลย่อมชี้ขาดคดีนอกฟ้องตามคำร้องที่ไม่ได้สอบถามและมีคำสั่งประการใดนี้ ไม่ได้

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ได้ความว่า นายเซ้งหรือปรีชัย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของห้างตั้งท่งฮวดหุ้นส่วนจำกัดซึ่งขายสินค้าต่าง ๆ จำเลยที่ 1 เป็นพี่จำเลยที่ 2 กับนายเลี้ยงหรือวีระอายุ 17 ปี เป็นน้อง จำเลยที่ 1 เป็นคนเดินตลาดของห้างนี้ หากมีผู้ต้องการซื้อจำเลยที่ 1 ก็ไปแจ้งแก่ผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการห้างให้ออกใบเบิกสินค้าเพื่อรับสินค้าของห้างนำไปมอบแก่ผู้ซื้อ ให้ผู้ซื้อลงนามในใบรับสิ่งของ (หรือใบผัดใช้เงิน) แล้วนำไปมอบแก่ห้างเพื่อจะได้เก็บเงินจากผู้ซื้อตามใบรับสิ่งของ เดิมห้างขายเงินสด จำเลยที่ 1 แนะนำให้ขายสินค้าเงินเชื่ออ้างว่าลูกค้ามีหลักฐานดี เมื่อห้างยอมขายเชื่อ จำเลยที่ 1จึงเอาความเท็จมาแจ้งแก่ผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการว่า ห้างร้านชื่อนั้น ๆ ต้องการสินค้าอย่างนั้นอย่างนี้จำนวนเท่าใด โดยจำเลยที่ 1 สมมติชื่อขึ้น มีชื่อตรงกับห้างร้านที่ตั้งอยู่บ้าง เช่น บริษัทเฮงง้วนมีชื่อคล้ายคลึงหรือไม่คล้ายคลึงกับชื่อห้างร้านอื่นบ้าง ผู้จัดการหรือผู้ช่วยผู้จัดการหลงเชื่อออกใบเบิกสินค้าให้ จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ก็นำใบเบิกสินค้าไปเอาของที่คลังสินค้าของห้างหรือที่ท่าเรือคลองเตย โดยจำเลยผู้รับสินค้าไปได้ลงชื่อรับของให้ไว้แก่ผู้รักษาคลังสินค้าหรือผู้ทำงานติดต่อกับท่าเรือ ได้สินค้าแล้วก็เอาไปขาย โดยจำเลยที่ 1 ทำใบรับสิ่งของหรือใบผัดใช้เงินขึ้นลงชื่อห้างร้านและประทับตราตามที่จำเลยที่ 1สมมติขึ้นเป็นผู้รับของไว้ จำเลยที่ 1 นำใบรับของมาให้ห้างบ้าง จำเลยที่ 2 นำมาบ้าง เงินที่จำเลยขายสินค้าได้ ได้ฝากธนาคารไว้โดยใช้ชื่อต่าง ๆ กันรวมหลายธนาคาร เมื่อถึงกำหนดใช้เงินตามใบรับของคนเก็บเงินไปเก็บเงินไม่พบร้านสมมติไปถามจากจำเลยที่ 1 ตอนต้น ๆ จำเลยที่ 1 รับไปเก็บให้ ได้เป็นเงินสดบ้างหรือเช็คสั่งจ่ายหรือสลักหลังโดยชื่อสมมติบ้าง นำมาให้คนเก็บเงิน บางครั้งจำเลยที่ 2ก็นำมามอบให้ คนเก็บเงินก็คืนใบรับของรายนั้น ๆ ให้จำเลยไป จำเลยที่ 1 ก็ทำลายเสีย เช็คที่ธนาคารส่งคืนขึ้นเงินไม่ได้คนเก็บเงินก็ติดต่อกับจำเลยที่ 1 หลายครั้งเข้าคนเก็บเงินทราบความทุจริตจำเลยก็แบ่งผลประโยชน์ให้ ครั้นต่อมาการเก็บเงินฝืดมากขึ้นคนเก็บเงินได้บอกความจริงดังกล่าวแก่ผู้ช่วยผู้จัดการ ๆ บอกผู้จัดการเรียกจำเลยที่ 1 ไปสอบถามพร้อมจำเลยที่ 2 กับนายเลี้ยงหรือวีระ จำเลยที่ 1 รับสารภาพและนำไปเอาดวงตรา ฯลฯ ที่ใช้ประทับชื่อห้างร้านและเซ็นสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็ค ผลการตรวจสอบบัญชีปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวเท็จรับเอาของไปหลายครั้งหลายหนรวม 147 รายการเป็นเงิน 5,906,839 บาทใบรับของที่จำเลยทำให้ยังเหลืออยู่อีก 82 ฉบับรวมเงิน (ราคาสินค้า) 3,461,845 บาทเช็คต่าง ๆ ที่จำเลยนำมาใช้ 97 ฉบับรวมเงิน 2,441,630 บาท ได้มีการร้องทุกข์สอบสวนเสร็จแล้วโจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวน ขอให้คืนหรือใช้ทุนทรัพย์คดีแรกเป็นเงิน 45,000 บาท แล้วโจทก์ร้องขอแก้เป็น 146,500 บาท คดีหลัง5,906,839 บาท

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยสมคบกันใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายเอาสินค้าไปจำหน่ายเป็นประโยชน์ส่วนตัว ส่วนข้อหาฐานปลอมหนังสือไม่ปรากฏว่าจำเลยปลอมดวงตราของบริษัทเฮงง้วนอย่างไร ห้างร้านยี่ห้ออื่นจำเลยก็สมมติขึ้น พิพากษาว่าจำเลยผิดตาม กฎหมายอาญามาตรา 304, 63 รวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่ง 8 ปี จำเลยรับสารภาพ (เมื่อสืบพยานโจทก์ได้หนึ่งปากแล้ว) ลดตาม ม. 59 กึ่งหนึ่งจำคุก 4 ปี จำคุกจำเลยที่สอง 4 ปี ให้ช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องทั้งสองคดี

โจทก์ โจทก์ร่วม (ห้างตั้งท่งฮวด ฯ โดยนายสิน พรประภาผู้จัดการ) และจำเลยต่างอุทธรณ์ทุกฝ่าย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยสมคบกันทำผิดฐานฉ้อโกงตาม มาตรา 304และ 319 การที่จำเลยที่ 1 สมมติชื่อห้างร้านขึ้นแล้วนำใบรับสิ่งของ ออกเช็คสั่งจ่ายหรือสลักหลังเช็คที่ไม่มีตัวจริง เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ การรวมกระทงลงโทษตาม มาตรา 304 มาตราเดียว ต้องลงโทษไม่เกินอัตราขั้นสูง คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนค่าเสียหายทุนทรัพย์ในคดีแรกไปรวมอยู่ในคดีหลัง ค่าเสียหายจริงเฉพาะคดีหลังเพียง 5,760,339 บาท ค่าเสียหายคดีแรกโจทก์ขอเพียง 45,000 บาท แม้จะยื่นคำร้องขอแก้ ศาลส่งสำเนาให้จำเลย แต่ก็หาได้สอบถามหรือมีคำสั่งไม่ ควรให้จำเลยใช้เพียง 45,000 บาท รวม 2 คดีเป็นเงิน 5,805,339 บาท

พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดตาม กฎหมายอาญา มาตรา 304, 225เรียงกระทงจำคุกตาม ม. 304 3 ปี มาตรา 225 7 ปีรวม 10 ปีลดตาม มาตรา 59คงจำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 ผิด มาตรา 304 จำคุก 3 ปี ให้ช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,805,339 บาท

อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตาม มาตรา 306(4), 319

โจทก์ร่วมฎีกาว่าควรจะเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 ให้มากกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยไม่ควรมีผิดฐานปลอมหนังสือ

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยไม่มีผิดฐานฉ้อโกง

ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าบทมาตรา 306(4), 319(1) และ (3) ฎีกาอัยการฟังไม่ขึ้น ฎีกาของโจทก์ร่วม เห็นว่าจำเลยทำการฉ้อโกงหลายสิบครั้ง รวมกระทงลงโทษเกินกว่า 3 ปีได้แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยมาคนละไม่เกิน 5 ปี การที่ฎีกาให้ใช้ดุลพินิจลงโทษให้หนักเป็นการคัดค้านข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ที่ขอให้คืนหรือใช้ทรัพย์คดีแรก 146,500 บาทนั้น โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง 45,000 บาทเท่านั้น ที่ร้องขอแก้ศาลส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลย แต่ศาลไม่ได้สอบถามมีคำสั่งประการใด จะถือว่าคำร้องขอแก้ฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องไม่ได้คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้อง ศาลไม่มีอำนาจชี้ขาดบังคับคดีนอกฟ้อง ศาลอุทธรณ์หักทุนทรัพย์คดีแรกออกจากคดีหลังชอบแล้ว เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องทุนทรัพย์รายเดียวซ้ำขึ้นมาอีก ปรากฏว่าเมื่อเกิดเรื่องแล้วผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในครอบครองของผู้จัดการห้าง และจำเลยที่ 1 ได้พาไปเก็บเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระตามห้างร้านมาได้อีก ฟังได้ว่าห้างตั้งท่งฮวดได้รับเงินและทรัพย์สินคืนแล้ว 400,000 บาท หักจากยอดเงินที่ศาลอุทธรณ์บังคับให้จำเลยใช้คงเหลือ 5,405,339 บาท

ฎีกาจำเลยที่ 1 เห็นว่าชื่อที่จำเลยเขียนและตราที่จำเลยประทับในใบรับของและเช็ค อันเป็นชื่อและตราที่ไม่มีตัวจริงนั้นการที่ไม่มีห้างร้านตัวจริงแต่เป็นห้างร้านที่สมมติขึ้น จึงเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือทั้งฉบับ เช็คเป็นใบสั่งให้จ่ายเงินตามกฎหมายอาญา มาตรา 225(4) ที่คัดค้านว่าควรผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 นั้น เช็คอยู่ในลักษณะ 21 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันว่าด้วยตั๋วเงิน จึงต้องด้วย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 266(4) ซึ่งโทษหนักกว่ากฎหมายลักษณะอาญา คือโทษปรับสูงกว่าไม่ต้องแก้ไข

ฎีกาจำเลยที่ 2 แยกโต้แย้งเฉพาะการกระทำของตนคนเดียว ว่าไม่ครบองค์ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นการคัดค้านข้อเท็จจริง โดยศาลล่างทั้งสองชี้ขาดว่าจำเลยสมคบกันทำการฉ้อโกง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

พิพากษายืนกำหนดโทษตามศาลอุทธรณ์ แต่ให้จำเลยช่วยกันคืนหรือใช้ทรัพย์เพียง 5,405,339 บาท

Share