คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 251/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้สามีจำเลยขอเข้าเป็นจำเลยร่วมอ้างว่าเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนโดยที่จำเลยทำนิติกรรมไปไม่ได้รับความยินยอมจากตนก่อนดังนี้ ศาลไม่อนุญาต เพราะถึงแม้ว่าโจทก์ชนะคดี ก็ยังไม่แน่ว่าโจทก์จะบังคับเอาจากทรัพย์ใดโจทก์อาจบังคับเอาจากทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยก็ได้เพราะฉะนั้นในชั้นนี้ จึงยังไม่จำเป็นที่ผู้ร้องสามีจำเลยจะต้องร้องขอความคุ้มครองสิทธิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยต่อสู้ว่าหนังสือสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยพิมพ์นิ้วมือมีพยานรับรองแต่ผู้เดียว และจำเลยเป็นหญิงมีสามี ทำนิติกรรมสัญญากู้โดยสามีมิได้ยินยอม

ระหว่างชี้สองสถานผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมอ้างว่าเพื่อยังให้ผู้ร้องได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ เพราะผู้ร้องผู้เป็นสามีไม่ได้ยินยอมให้จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ นิติกรรมจึงไม่ผูกพันสินบริคณห์ผู้ร้องจึงขอบอกล้างนิติกรรมนี้ว่าเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามกันมาว่า แม้สามีจะบอกล้างนิติกรรมนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงผูกพันสินส่วนตัวของภรรยา และในชั้นนี้ หากโจทก์ชนะคดีก็ยังไม่แน่ว่าจะบังคับเอาจากทรัพย์ใด จึงยังไม่จำเป็นที่ผู้ร้องจะต้องขอความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิ จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า หากโจทก์ชนะคดีและยึดทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยแม้ผู้ร้องจะเป็นสามี จำเลยก็ไม่มีสิทธิคัดค้านโจทก์ได้ เพราะในส่วนที่เกี่ยวด้วยสินส่วนตัว หญิงมีสามีย่อมมีฐานะอย่างบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งอนุญาตในขณะนี้ให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมพิพากษายืน

Share