คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้นามเมืองทองเป็นชื่อบริษัทเลียนชื่อที่โจทก์ใช้มานานทำให้โจทก์เสียหาย เป็นละเมิดศาลให้ถอนชื่อและให้ค่าเสียหายตามความร้ายแรงแห่งละเมิด

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วน จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้ทำการค้ากระจกแว่นตา ยี่ห้อ “ไซสส์” แห่งประเทศเยอรมันและค้านาฬิกากับปากกาด้วย เฉพาะการค้าแว่นตา โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492 โดยโจทก์โฆษณาให้ประชาชนทราบทั้งทางวิทยุกระจายเสียงฉายภาพในโรงภาพยนต์ ปิดป้ายโฆษณา และวิธีอื่น ๆ หากผู้ใดประสงค์จะซื้อหรือติดต่อสอบถามก็ให้ติดต่อที่บริษัทเมืองทองแผนกแว่นตาจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 2 ถึง 8 เป็นคณะกรรมการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ชั้นเดิมจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้นามว่า บริษัทเภสัชเวชภัณฑ์ จำกัด ทำการค้าเวชภัณฑ์และต่อมาทำการค้าแว่นตา ครั้นเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2497 ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทเมืองไทยการแว่น จำกัดทำการค้าแว่นตาชนิดและยี่ห้อต่าง ๆ อันเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่โจทก์ค้าอยู่

เนื่องจากผลของการโฆษณาที่โจทก์กระทำมาเป็นเวลานานและโจทก์ค้าด้วยความซื้อสัตย์สุจริต ชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์จึงเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของพ่อค้าประชาชนทั่วไปโดยเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลย จึงเมื่อตอนปลายปี 2497 จำเลยโดยการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทอีกครั้งหนึ่งเป็น “บริษัทเมืองทองการแว่น จำกัด” เพื่อเป็นการเลียนชื่อยี่ห้อค้าขายของโจทก์ทั้งนี้โดยจำเลยประสงค์จะให้ลูกค้าและประชาชนหลงเชื่อ หรือเข้าใจผิดว่าชื่อบริษัทเมืองทองการแว่น จำกัด นั้นก็คือบริษัทเมืองทองแผนกแว่นตาของโจทก์และสินค้าแว่นตาที่จำเลยค้าอยู่ ก็คือกระจกแว่นตายี่ห้อไซสส์ที่โจทก์ค้านั่นเอง การเปลี่ยนแปลงชื่อของบริษัทจำเลยเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ซึ่งมีความชอบธรรมอยู่แล้วที่จะใช้ยี่ห้อค้าขายว่า “บริษัทเมืองทอง” หรือ “บริษัทเมืองทองแผนกแว่นตา” อยู่ก่อนแล้ว และยิ่งกว่านั้นจำเลยยังทำป้ายชื่อโดยใช้อักษรจีนอ่านว่า “ทงเซี้ย” เหมือนกับชื่อภาษาจีนของบริษัทโจทก์อีกด้วย

การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือสินค้าที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้า และประชาชนไม่มีคุณภาพหรือไม่ใช่กระจกแว่น “ไซสส์” ที่แท้จริง และทั้งคุณภาพในการประดิษฐ์ก็ไม่เท่าเทียมของโจทก์ ทำให้ชื่อเสียงยี่ห้อการค้าของโจทก์ต้องเสื่อมเสียเพราะคนซื้อเข้าใจผิด คิดว่าเป็นแว่นตาของบริษัทโจทก์ และได้ซื้อจากบริษัทของโจทก์นั่นเอง จึงทำให้บริษัทโจทก์ขาดความเชื่อถือประการหนึ่งอีกประการหนึ่ง ทำให้โจทก์ต้องขาดผลประโยชน์รายได้ อันจะควรพึงมีพึงได้ ซึ่งโจทก์คิดเพียงวันฟ้อง เป็นเงิน 100,000 บาท ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ตักเตือนบอกกล่าวไปยังบริษัทจำเลยแล้ว แต่จำเลยก็มิได้จัดการแก้ไขอย่างใด จึงขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อว่า”บริษัทเมืองทอง” หรือมิให้มีคำว่า “เมืองทอง” และสั่งให้เจ้าพนักงานนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพิกถอนการจดทะเบียนชื่อบริษัท จำเลยที่ 1 โดยมิให้ใช้คำว่า “เมืองทอง” และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์

จำเลย (เว้นแต่จำเลยที่ 5) ให้การต่อสู้ว่า โจทก์จะเป็นห้างหุ้นส่วนจริงหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง หากจะเป็นจริงนายจือเม้งผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็หามีอำนาจฟ้องคดีแทนห้างโจทก์ได้ไม่ เพราะหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจเฉพาะกระทำการซึ่งเป็นปกติกิจการทั่วไปเท่านั้น แต่การฟ้องคดีเป็นกิจการพิเศษ หุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีอำนาจทำแทน โดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนโจทก์ก่อนกรณีนี้หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ได้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วโจทก์ให้ฟ้องคดี ฉะนั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801

โจทก์ไม่ใช่เป็นตัวแทนจำหน่ายแว่นตา ยี่ห้อไซสส์แต่ผู้เดียวในประเทศไทย ผู้อื่นก็มีสิทธิที่จะสั่งมาจำหน่ายได้โดยเสรี

จำเลยไม่ได้ละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยใช้ชื่อบริษัทเมืองทองการแว่น จำกัด เพื่อเป็นการเลียนชื่อยี่ห้อของโจทก์ เพราะชื่อโจทก์ชื่อว่า บริษัทเมืองทอง แต่บริษัทจำเลยชื่อ “บริษัทเมืองทองการแว่น จำกัด” เป็นคนละชื่อ และห่างไกลผิดกันมากไม่อาจทำให้ผู้อื่นหลงเข้าใจผิดแต่อย่างใด ทั้งชื่อของโจทก์ก็มิได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ไม่มีความเชื่อถือในวงการค้าหรือประชาชน

การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ส่วนการใช้ชื่อในภาษาจีน จำเลยก็ใช้คำว่า”ทงเซี้ยงังเกี่ยอู้ฮั่งกงซี” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “เมืองทองการแว่นบริษัทจำกัด” คำว่า “ทงเซี้ย” แปลว่า “เมืองทอง” เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะการกระทำของจำเลยไม่มีบุคคลใดเข้าใจผิด และโจทก์ไม่ได้ขาดผลประโยชน์ตามฟ้อง จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหาย และถึงอย่างไรก็ตามค่าเสียหายก็ไม่ถึงตามที่โจทก์ฟ้องจึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

สำหรับจำเลยที่ 5 นั้น ต่อมาโจทก์ได้ขอถอนฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ถอนฟ้องได้

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า ชื่อบริษัทโจทก์และชื่อบริษัทจำเลยไม่เหมือนกัน และบริษัทโจทก์กับบริษัทจำเลยอยู่ห่างไกลกัน คือ ถนนเยาวราช และวังบูรพา บริษัทจำเลยไม่ได้ขายแว่นตาไซสส์บริษัทโจทก์ไม่ได้เสียหาย เพราะบริษัทโจทก์มีผลกำไรในการขายแว่นตาของโจทก์ดีขึ้น จึงให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายสองพันบาทแก่จำเลย

โจทก์อุทธรณ์ว่า ชื่อบริษัทจำเลยเลียนชื่อบริษัทโจทก์ซึ่งใช้มานานแล้ว เพราะคำว่า เมืองทอง ทำให้คนเข้าใจผิดว่าร้านจำเลยเป็นสาขาร้านโจทก์ โดยบางคนเข้าไปซื้อแว่นตาไซสส์ที่ร้านจำเลย แต่ได้แว่นยี่ห้ออื่น ซึ่งเป็นการตัดรายได้ของโจทก์เป็นการเสียหายแก่โจทก์ตาม มาตรา 18, 1115, 420, 421 การละเมิดนี้ ศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้ตาม มาตรา 438 ขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อคำว่า เมืองทอง และสั่งให้เจ้าพนักงานถอนทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ชื่อว่าบริษัทเมืองทอง ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดชื่อบริษัทเมืองทองการแว่น จำกัด จำเลยเพิ่งจดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังการจดทะเบียนของโจทก์หลายปี โจทก์ได้ขายนาฬิกา ปากกา และแว่นตาไซสส์ซึ่งโจทก์เป็นเอเย่นต์จำหน่ายแว่นตาไซสส์ของห้างบีกริม และห้างบีกริมเป็นผู้แทนจำหน่ายแว่นตาไซสส์ในประเทศไทยแต่ห้างเดียว ส่วนร้านจำเลยนั้นทำการขายแว่นตาแต่อย่างเดียว ซึ่งสั่งมาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้ขายแว่นตาไซสส์ของโจทก์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า บริษัทจำเลยใช้ชื่อพ้องหรือเลียนชื่อบริษัทโจทก์ และได้มีคนหลงเข้าใจผิดว่า บริษัทจำเลยเป็นของบริษัทโจทก์หรือสาขาของบริษัทโจทก์ จึงเป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายพิพากษากลับ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อ คำว่าเมืองทอง อยู่ในชื่อของบริษัทจำเลย และให้เจ้าพนักงานนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทถอนการจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยโดยมิให้ใช้คำว่า “เมืองทอง” ต่อไป กับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยช่วยกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาล เว้นแต่ค่าขึ้นศาล ให้ใช้เพียงเท่าที่โจทก์ชนะ กับให้จำเลยเสียค่าทนายความสองศาลเป็นเงิน 3,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว

ข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า การละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ต้องเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งการเลียนชื่อของโจทก์มาใช้ จำเลยไม่เห็นเป็นผิดต่อกฎหมายประการใด ทั้งในทางแพ่งหรือทางอาญา นั้น ข้อนี้ไม่ได้โต้เถียงกันโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี โจทก์กล่าวในฟ้องว่า “การเปลี่ยนแปลงชื่อของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งตรงตามบทบัญญัติของ มาตรา 421 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และโยงไปยัง มาตรา 420 ว่าเป็นการทำโดยผิดกฎหมาย และเป็นละเมิด

จำเลยฎีกาว่า คำว่า “เมืองทอง” เป็นคำสามัญทั่วไปหมายความถึงเมืองไทย ซึ่งใครจะนำไปใช้ก็ได้ ไม่มีกฎหมายห้ามทั้งนี้เทียบได้กับหลักในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีเครื่องหมายการค้า แต่เป็นเรื่องละเมิดสิทธิในนาม จึงนำเอาหลักที่กล่าวมาปรับไม่ได้ โจทก์ได้นำคำนี้มาใช้เรียกชื่อร้านโจทก์ก่อนจำเลย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ซึ่งโจทก์ได้มีพยานหลายคนมาสืบให้เห็นว่า โจทก์เสียหายเพราะพยานเข้าใจว่าเป็นร้านเดียวกับร้านโจทก์ และแว่นตาที่ซื้อก็เป็นชนิดเดียวกับที่โจทก์ขาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิใช้คำว่า “เมืองทอง” อยู่ในชื่อของบริษัทจำเลย

ข้อสุดท้ายจำเลยฎีกาว่า ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นเมื่อโจทก์สืบค่าเสียหายเป็นเงินทองไม่ได้ โจทก์ก็ไม่ควรได้รับค่าเสียหายนั้น โจทก์สืบได้ว่าคำว่า “เมืองทอง” นี้ โจทก์ได้ใช้เป็นชื่อตั้งร้านค้าขายมาก่อนจำเลยเป็นเวลาตั้ง 10 ปี และได้ซื้อชื่อนี้มาจากเจ้าของร้านเดิม 20,000 บาท โจทก์ได้จดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “บริษัทเมืองทอง” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีนอีกด้วย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Muang Thong Co.” ส่วนภาษาจีนเขียนว่า “ทงเซี้ยกงซี” ตลอดเวลานี้ โจทก์ได้ลงทุนโฆษณาชื่อห้างนี้ไปแล้วทั้งทางหนังสือพิมพ์วิทยุ และโปสเตอร์ สิ้นเงินตั้งล้านบาทจนกระทั่งคนทั้งหลายรวมทั้งจำเลยรู้กันดีว่า ห้างเมืองทองจำหน่ายแว่นตา เป็นห้างของโจทก์ ฝ่ายจำเลยเริ่มต้นด้วยการตั้งร้านจำหน่ายยาและใช้ชื่อว่า เภสัชเวชภัณฑ์ต่อมาขยายกิจการไปถึงการขายแว่นตาแต่คงใช้ชื่อเก่า ภายหลังเลิกขายยา คงขายแต่แว่นตา และเปลี่ยนชื่อว่า บริษัทเมืองไทยการแว่น จำกัด และได้ขายแว่นตายี่ห้อไซสส์ของโจทก์ด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัทเมืองทองการแว่น จำกัดโดยมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญชื่อภาษาจีนของโจทก์ว่าทงเซี้ย ก็ลอกเอาไปใช้เป็นอย่างเดียวกัน ในการประชุม มีผู้เสนอความเห็นว่าชื่อของบริษัทจำเลยอาจมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นสาขาของบริษัทโจทก์ และอาจทำให้บริษัทโจทก์เสียหาย แต่เป็นเสียงข้างน้อยนอกจากนี้โจทก์ยังสืบได้ความดังกล่าวมาแล้วว่า มีผู้เข้าใจผิดว่าร้านจำเลยเป็นร้านเดียวกับร้านโจทก์ และขายแว่นตาชนิดเดียวกันทำให้ชื่อเสียงของร้านโจทก์เสียหาย กะประมาณค่าเสียหายทั้งหมดหนึ่งแสนบาท ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบแสดงความร้ายแรงแห่งการละเมิดของจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ทักท้วงในที่ประชุมแล้วยังฝืนใช้ชื่อของโจทก์อีกแสดงว่ามีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ได้ตามควรแก่กรณีและที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ 50,000 บาท นั้น หาเกินสมควรไม่

จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลยและให้จำเลยเสียค่าทนายในชั้นนี้ 1,500 บาท แทนโจทก์ด้วย

Share