คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า TAVIPEC สำหรับสินค้าจำพวก 3 จำพวกเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า VIPEXของจำเลยซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อน เครื่องหมายการค้าทั้งสองเป็นคำประดิษฐ์ซึ่งเป็นตัวอักษรโรมัน สองพยางค์ท้ายอ่านออกเสียงหรือเรียกขานเหมือนกันว่า ไวเป๊ก แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า TA เพิ่มข้างหน้าอีกพยางค์หนึ่ง แม้ตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์ขึ้นจะต่างกันก็จริง แต่ประชาชนโดยทั่ว ๆ ไปก็มิได้พิจารณาตัวหนังสือ หากแต่อาศัยฟังจากเสียงตามสำเนียงเรียกขานแม้จะเปลี่ยนแปลงตัวอักษรตัวท้ายจาก X เป็น C สำเนียงที่อ่านก็ยังอ่านอย่างเดียวกัน การที่เพิ่มพยางค์อีกพยางค์หนึ่ง ก็ยังมีคำว่า VIPEC อยู่ บางคนอาจเรียกย่อ ๆ ว่า ไวเป๊ก ก็ได้ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับยาช่วยระงับไอและขับเสมหะส่วนจำเลยใช้สำหรับยาอมแก้ไอและยาทาแก้โรคผิวหนัง การที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า TAVIPEC อาจทำให้เกิดสับสนเข้าใจผิดได้ กล่องและคำอธิบายสำหรับสินค้าจะแตกต่างกันอย่างไรไม่สำคัญ เมื่อจำเลยเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า VIPEX และจดทะเบียนไว้ก่อนโดยสุจริต โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อันมีถ้อยคำประดิษฐ์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันหรือคล้ายกันใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน อันอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดหาได้ไม่(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 779/2506 และ 105/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า tavipec(อ่านว่าทาไวเป๊ก แปลไม่ได้) เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๓ ทั้งจำพวกแต่จำเลยคัดค้านว่าเหมือนกับเครื่องหมายการค้า VIPEX ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยจดทะเบียนไว้โดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลยห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตและใช้ตลอดมา เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนคล้ายกับของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลย ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเป็นคำประดิษฐ์ซึ่งเป็นตัวอักษรโรมัน การอ่านออกเสียงหรือคำที่เรียกขานสำหรับเครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้ สองพยางค์ท้ายเหมือนกัน คืออ่านว่าไวเป๊ก เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเติมคำว่า “TA” ซึ่งอ่านออกเสียงว่า”ทา” เพิ่มขึ้นข้างหน้าอีกพยางค์หนึ่ง แต่คำจะมากหรือน้อยพยางค์ไม่สำคัญข้อสำคัญอยู่ที่ว่า คล้ายคลึงกันหรือไม่ เมื่อเทียบเคียงเครื่องหมายการค้าทั้งสองแล้ว แม้ตัวอักษรโรมันที่ประดิษฐ์ขึ้นจะต่างกันก็จริง แต่สำหรับประชาชนนั้นโดยทั่ว ๆ ไปก็มิได้พิจารณาตัวหนังสือ หากแต่อาศัยฟังจากเสียงตามสำเนียงเรียกขาน แม้จะเปลี่ยนแปลงตัวอักษรท้ายจาก “X” เป็น”C” สำเนียงที่อ่านก็อย่างเดียวกัน การที่เพิ่มพยางค์อีกพยางค์หนึ่งแต่ยังมีคำว่า “VIPEC” ซึ่งอ่านว่า “ไวเป๊ก” อยู่ บางคนอาจเรียกย่อ ๆ ว่า ไวเป๊ก ก็ได้การที่จะวินิจฉัยว่าเหมือนหรือคล้ายกันอันจะทำให้ประชาชนหลงผิดได้หรือไม่นั้น จะพิจารณาแต่เฉพาะความแตกต่างกันของตัวอักษร และจำนวนพยางค์ที่ใช้ประกอบขึ้นยังไม่ได้ต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยว่าอาจทำให้สาธารณชนหลงเข้าใจผิดได้หรือไม่ คดีนี้ยาของโจทก์เป็นยาช่วยระงับไอและขับเสมหะซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “TAVIPEC” คล้ายคลึงกับ “VIPEX” ของจำเลย แม้การประดิษฐ์ตัวอักษรจะผิดเพี้ยนกันก็เพียงเล็กน้อยตามคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๓ ยาของจำเลยเป็นจำพวกยาอมแก้ไอ และตามกล่องยาและคำโฆษณาตามเอกสารหมาย ล.๕จำเลยยังใช้เครื่องหมายการค้า “VIPEX” สำหรับยาทาแก้โรคผิวหนังอีกด้วยการที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้คำว่า “TAVIPEC” อาจทำให้เกิดสับสนเข้าใจผิดได้ ส่วนกล่องและคำอธิบายไม่ใช่ลวดลายที่ขอจดทะเบียนเป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้า แม้จะแตกต่างอย่างไร จึงไม่ใช้ข้อสำคัญเมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้ารายนี้จำเลยได้เป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า VIPEX ขึ้นและจดทะเบียนไว้ก่อน สำหรับสินค้าจำพวก ๓ ทั้งจำพวกโดยสุจริตเช่นนี้โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอันมีถ้อยคำประดิษฐ์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันหรือคล้ายกันใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันอีก อันอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดหาได้ไม่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๙/๒๕๐๖และ ๑๐๕/๒๕๑๑
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share