แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การ โดยจำเลยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นคำให้การได้ ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 จึงเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาคดีตามมาตรา 226(1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 89/99 ให้จำเลยชำระเงิน 5,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแก่โจทก์
ในวันนัดให้การแก้ข้อหาแห่งคดีและนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2543 ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่น ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28 สิงหาคม 2543 และอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายในเวลา 7 วัน ตามขอ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2543 ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2543 ทนายจำเลยเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดเพชรบูรณ์แล้วเดินทางกลับมายื่นคำให้การในวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ไม่ทัน จำเลยมิได้จงใจยื่นคำให้การเกินกำหนด ขอให้ศาลรับคำให้การที่ยื่นมาพร้อมคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง กับมีคำสั่งในคำให้การของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตจึงไม่รับคำให้การ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับคำให้การจำเลย โดยจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่จะยื่นคำให้การได้ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การจำเลยอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การมิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จึงเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1)ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน