คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานและมิได้ส่งสำเนาของหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และ 90 ซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังได้ตามมาตรา 87 แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อ้างส่งในขณะสืบพยานโจทก์ กลับนำมาอ้างส่งในขณะถามค้านพยานจำเลยทั้งสองปากสุดท้ายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เอกสารดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ เป็นการเอาเปรียบกันในเชิงคดีไม่ให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว ฉะนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงไม่สมควรรับฟังหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นพยาน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยตอกเสาเข็มเป็นการละเมิดโจทก์เป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ละเมิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความแม้จำเลยจะเบิกความตอบคำถามค้านว่าเคยมีหนังสือรับสภาพหนี้ถึงโจทก์ แต่เมื่อไม่รับฟังเอกสารดังกล่าว จึงเท่ากับไม่มีหนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 130775 พร้อมกำแพงรั้วคอนกรีตและอาคารเลขที่ 2/52 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อประมาณต้นปี 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 130773 และ 130774 ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของโจทก์ โดยปลูกสร้างห่างจากแนวเขตที่ดินโจทก์เพียง 10 ถึง 20 เซนติเมตรและในการก่อสร้างจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสั่งการออกคำสั่งให้พนักงานและลูกจ้างของจำเลยทั้งสองตอกเสาเข็มคอนกรีตขนาดใหญ่ลงในที่ดิน ทำให้เกิดแรงอัดแรงกระแทกและแรงสั่นสะเทือน เป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์บางส่วนบริเวณกำแพงรั้วและอาคารของโจทก์ทรุดตัวเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท กำแพงรั้วมีรอยแตกร้าว ความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยและอายุการใช้งานลดลงเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท อาคารของโจทก์ทรุดตัว โครงสร้างคานผนังและหลังคาแตกร้าว ความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยและอายุการใช้งานลดลงเสียหายเป็นเงิน 1,200,000 บาท และอาคารที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก ปลูกสร้างชิดแนวเขตที่ดินของโจทก์เกินไป เป็นการบรรทุกน้ำหนักบนที่ดินเกินควรจนอาจเป็นอันตรายแก่ความอยู่มั่นคงแห่งที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพหรือความปลอดภัยของโจทก์ทำให้โจทก์หมดโอกาสรับอากาศที่ดี กระแสลมและแสงแดดได้อย่างเต็มที่ คิดเป็นค่าเสียหาย 150,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนอาคารพาณิชย์ที่ปลูกสร้างให้ออกห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ไม่ต่ำกว่า 4 เมตรด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 130775 และอาคารเลขที่ 2/52 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 1 จ้างผู้อื่นให้ทำการตอกเสาเข็มและผู้รับจ้างทำการตอกเสาเข็มเสร็จเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 (ที่ถูกวันที่ 20 พฤษภาคม 2538) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ความเสียหายของอาคารและกำแพงรั้วของโจทก์มิได้เกิดจากการตอกเสาเข็มของผู้รับจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 130773 และ 130774 และมิได้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างแต่เป็นเพียงผู้รับจ้างก่อสร้างจากเจ้าของ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารได้ อาคารที่จำเลยทั้งสองรับจ้างก่อสร้างไม่ได้ทำให้อาคารของโจทก์เสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายหรือเสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 กรกฎาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่า สมควรรับฟังเอกสารหมาย จ.14 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์อ้างส่งต่อศาลเป็นพยานหลักฐานได้เพียงใด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่ (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.14 นี้โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานตามมาตรา 88 กับมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังตามมาตรา 87 ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่าโจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในขณะสืบพยานโจทก์กลับนำมาอ้างส่งในขณะถามค้านพยานจำเลยทั้งสองปากสุดท้ายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่เอกสารดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ ดังนี้ เป็นการเอาเปรียบกันในเชิงคดีไม่ให้จำเลยทั้งสองมีโอกาสต่อสู้คดีเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงไม่สมควรรับฟังเอกสารหมาย จ.14 เป็นพยาน ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

ปัญหาข้อที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โต้แย้งว่า การตอกเสาเข็มรายพิพาทของจำเลยทั้งสองเสร็จเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2538 โจทก์จึงรู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันนั้น ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสองตอกเสาเข็มเป็นการละเมิดโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ถึงแม้จำเลยที่ 2 จะเบิกความตอบคำถามค้านว่าเคยมีหนังสือเอกสารหมาย จ.14 ถึงโจทก์ แต่เมื่อไม่รับฟังเอกสารหมาย จ.14 เสียแล้ว จึงเท่ากับไม่มีหนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามความหมายในมาตรา 193/14(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองต่อไป”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share