คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ขณะจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยในการอำนวยสินเชื่อไว้สำหรับสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไปว่า 1.1 กรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี และ 1.2 กรณีเกินวงเงิน/ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กรณีของจำเลยอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ 1.1 แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในชั้นพิจารณาของศาลพนักงานฝ่ายสินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินของโจทก์เบิกความยืนยันว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ดังนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ในการคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ได้ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณี ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) จึงเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 1,409,541.64บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ในต้นเงิน 787,246.01 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 788,698.01บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 75194 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เป็นต้นเงินจำนวน 787,246.01 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ วันที่ 4 มีนาคม 2537จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.4 ตกลงผ่อนชำระเดือนละไม่น้อยกว่า 19,000 บาท ภายในทุกวันที่ 4 ของเดือนและชำระเสร็จภายในวันที่ 4 มีนาคม 2542 จำเลยยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 ได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 75194 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจำนองประกันเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 21 มีนาคม 2538 จำนวนเงิน 8,000 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีในสัญญากู้เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยตามเอกสารหมาย จ.17 ซึ่งในเอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่ 4 กำหนดอัตราดอกเบี้ยในการอำนวยสินเชื่อไว้ คือ 1. สินเชื่อสำหรับลูกค้าทั่วไป

1.1 กรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี

1.2 กรณีเกินวงเงิน/ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระอัตราร้อยละ 19 ต่อปีประกาศฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไป กรณีของจำเลยทั้งสองอยู่ในหลักเกณฑ์ข้อ 1.1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในชั้นพิจารณาของศาลนายอภัยพงศ์วรรณศิริ พนักงานฝ่ายสินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินของโจทก์เบิกความยืนยันว่าคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ ในการคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ได้ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามเอกสารดังกล่าว ดังนั้นการที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) จึงเป็นโมฆะ

ปัญหาว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อใดนั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 จะระบุให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระเป็นรายเดือนภายในวันที่ 4 ของทุกเดือนก็ตาม แต่รายละเอียดการผ่อนชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.11 จะเห็นได้ว่าแม้จำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระหลังวันที่ 4 ของเดือนโจทก์ก็รับชำระหนี้โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการทักท้วงแต่ประการใด แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือเอาระยะเวลาที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ นอกจากนั้นตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาให้ 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยจำเลยทั้งสองรับหนังสือทวงถามวันที่ 27 ตุลาคม 2541 ครบ 7 วัน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2541 ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดวันผิดนัดในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”

พิพากษายืน

Share